"สาเหตุ"ของความ"ขัดแย้ง"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประชาชน 400 คน รวมตัวต่อต้านความรุนแรงหลังเหตุระเบิดตลาดนัด
โฆษกเผยฝีมือกลุ่มสุดโต่ง จ้องก่อเหตุเดือนรอมฎอน
โฆษกเผยฝีมือกลุ่มสุดโต่ง จ้องก่อเหตุเดือนรอมฎอน
ที่มาภาพประกอบ https://www.matichon.co.th/region/news_1513875
ผมมีความเห็นต่างกับฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากผู้ก่อเหตุต้องการให้มีการปกครองแบบอิสระโดยแยกออกจากประเทศไทย แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีหลักการและเหตุผลเท่าที่ควร แนวทางในการจัดการปัญหาในเขตพื้นที่โดยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยยังเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับการเสนอหลักการกระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีอำนาจในการจัดการตนเอง จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา[1]
การทำความเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจใช้คำอธิบายจากมุมมองแบบกว้างๆได้แก่[2] ความขัดแย้งดั้งเดิม (traditional factors) ปัจจัยทางศาสนา (religion) และขบวนการก่อความไม่สงบ (militant organisations) คำอธิบายแรก มุ่งเน้นเรื่องความขัดแย้งยืดเยื้อตั้งแต่ในอดีต ชาวมลายูมุสลิมรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสอง ประกอบกับความไม่เป็นระเบียบบริเวณชายแดนไทย - มาเลเซีย ซึ่งมีการก่ออาชญากรรม และการดิ้นรนของกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่อย่างยาวนาน ผู้สนับสนุนคำอธิบายนี้ระบุว่า ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายภาคใต้ของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (ช่วงปี 2544 – 2549) มีส่วนทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรง
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเน้นมุมมองทางด้านศาสนา ให้ความสำคัญกับโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนปอเนาะหรือกระบวนการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic revival) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิรูป (ขบวนการดะวะฮ์/ธรรมจาริก) นักวิเคราะห์บางคนมุ่งเน้นปัจจัยต่างประเทศ เช่น แนวคิดของขบวนการอัล-ไคดา และ Jemaah Islamiah (JI) หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในปี 2544 ซึ่งต่อมากลายเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นักวิเคราะห์ผู้มีความโดดเด่นรายหนึ่งกล่าวถึงบทบาทของผู้นิยมแนวทางซูฟีย์ (ลัทธินิยมความลี้ลับและเวทย์มนต์) และลัทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ (28 เมษายน 2547)
ส่วนนักวิเคราะห์ที่มีปูมหลังด้านการศึกษาเกี่ยวกับการก่อการร้ายระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากกลุ่มนักรบอิสลาม สมาชิกขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - Coordinate - BRN-C) ซึ่งวางแผนก่อเหตุรุนแรง ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยและนักวิเคราะห์อิสระบางคนเชื่อว่าแกนหลักของขบวนการก่อความไม่สงบ คือ กลุ่ม BRN-C ซึ่งดำเนินการแบบหน่วยอิสระ สมาชิกระดับล่างไม่รู้ถึงองค์กรใหญ่ที่อยู่เหนือกลุ่มที่ตนร่วมปฏิบัติการอยู่ ขบวนการนี้มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานค่อนข้างสูงสมาชิกในแต่ละพื้นที่สามารถเลือกเป้าหมาย และดำเนินงานทางการเมืองด้วยตัวเอง โครงสร้างเช่นนี้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อไปได้ แม้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจะพยายามทำลายเครือข่ายเหล่านี้[3]
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของอิสราเอลเห็นว่า[4] รากเหง้าของปัญหามาจาก 2 ปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ แนวคิดเรื่องชาตินิยม - ชาติพันธุ์นิยม และความแตกต่างทางศาสนา ลักษณะเฉพาะดังกล่าวยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ปัตตานีถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามตั้งแต่ปี 2445 เห็นได้จากการที่ประชาชนในพื้นที่ยังคงพูดภาษายาวี รวมทั้งถือว่าตนเองเป็นคนมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม การก่อความไม่สงบเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 – 1970 เนื่องจากประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับชาวไทยพุทธ จนกระทั่งช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยุติแผนการกลืนชาติ หันมาใช้นโยบายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม นิรโทษกรรมผู้ก่อความไม่สงบและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งนี้ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ มีส่วนทำให้ปัญหาความไม่สงบกลับมารุนแรงอีกครั้งและสั่นคลอนเสถียรภาพของไทยอย่างรุนแรง
การก่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้มีลักษณะคล้ายการทำสงครามกองโจรระดับโลก (Global Guerrilla Warfare) หรือสงครามยุคที่ 4 (Fourth Generation Warfare - 4GW)[5] เพราะแม้ว่ามีกำลังทหารและตำรวจประจำการอยู่เต็มพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ผู้ก่อความไม่สงบกลับสามารถหลบหนีไปได้เกือบทุกครั้งหลังออกมาก่อเหตุ ลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรักหลังถูกยึดครองโดยสหรัฐฯ[6] หลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการทำสงครามกองโจรกำลังก่อตัวในไทย คือ 1) กลุ่มบุคคลที่ก่อเหตุเป็นพวกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา และมีการจัดตั้งเครือข่ายเป็นกลุ่มย่อย (cell) กระจัดกระจายในพื้นที่ การประกอบกำลังแบบนี้ทำให้สามารถหาแหล่งหลบซ่อนได้ดี 3) แรงบันดาลใจของกลุ่มคนเหล่านี้มีที่มาจากอุดมการณ์แบบอัล-ไคดา หรือกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) 4) พัฒนาการของการโจมตีซึ่งใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องควบคุมการจุดชนวนระเบิดระยะไกล และเป้าหมายโจมตีเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง มาเป็นเป้าหมายที่มีการระวังป้องกันไม่เข้มงวด (soft target)
การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จุดระเบิดอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ กลุ่มก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนือ อิสราเอล ปาเลสไตน์ โคลัมเบียและอีกหลายแห่งใช้อุปกรณ์ชนิดนี้มาหลายปีแล้ว การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถขยายผลสืบสวนหาเครือข่ายของหน่วยย่อยได้ไม่ยากนัก ทั้งการตรวจสอบสถานที่อยู่และบุคคลที่ติดต่อด้วย แม้กระทั่งโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินก็ยังมีร่องรอย (clues) ให้เจ้าหน้าที่สืบสาวหาต้นตอได้ การรวบรวมข่าวกรองจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก แต่มีข้อน่าเป็นห่วงว่า การเหวี่ยงแหสืบสวนจากข้อมูลการติดต่อทางโทรศัพท์ อาจทำให้ได้รายชื่อผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายจำนวนมากกว่าที่ต้องการจริง ซึ่งกรณีนี้จะยิ่งทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกอยู่ในบัญชีดำมากขึ้น
สรุปสาเหตุแห่งปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ด้านหลักเป็นเรื่องการผลิตซ้ำทางความคิดในประเด็นประวัติศาสตร์มลายูปัตตานี ผ่านสื่อเกือบทุกประเภท เช่น สื่อบุคคล ถอดความบทเพลงกล่อมลูกภาษามลายูเป็นภาษาไทย (เนื้อหาให้ต่อสู้เพื่อเอารัฐปัตตานีคืนมาจากศัตรูชาวสยาม) โดยหวังผลจะทำให้เกิดความรู้สึกเชิงชาตินิยมสุดขั้วในหมู่ชาวมลายู ผู้สนใจจะแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องเปลี่ยนสมมติฐานการมองและวิเคราะห์ปัญหาใหม่ โดยมองว่าศูนย์ดุลของสงคราม (center of gravity)[7] อยู่ที่เรื่องการผลิตซ้ำทางประวัติศาสตร์และตีความศาสนาอย่างเข้มข้น (historical and religion reproduction) เป็นการต่อสู้เชิงนามธรรมมากกว่าการยึดพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งยังจำเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ[8]
[1] ยิงอส.-ครูหญิงดับแทนไปป์บอมบ์ถล่มตร.ยะลา, มติชน ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2562 (กรอบบ่าย)
[2] John Funston, Conflict in Southern Thailand : Causes, Agents and Trajectory ARC Federation Fellowship
Islam, Syari’ah and Governance, BACKGROUND PAPER SERIES
[3] International Crisis Group, เส้นทางสู่ขบวนการต่อสู้ในในชายแดนภาคใต้, รายงานเอเชีย ฉบับที่ 170 (22 มิถุนายน 2552)
[4] Isaac Kfir, “Southern Thailand and Islamic Terrorism” Institute for Counter-Terrorism (Febuary 23,2007) http://www.ict.org.il/apage/10372.php
[5] นักวิชาการด้านการทหารแบ่งยุคของสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตเป็น 3 ยุค คือ สงครามยุคที่ 1 (First Generation Warfare-1GW) เป็นยุคที่จักรพรรดินโปเลียนของฝรั่งเศส (ค.ศ.1769–1821) ครองอำนาจ มีการเกณฑ์ทหารและใช้อาวุธปืนเป็นเครื่องมือการรบ สงครามยุคที่ 2 (Second Generation Warfare-2GW) เป็นช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯและการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุคนี้เน้นอำนาจการยิงและการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน สงครามยุคที่ 3 (Third Generation Warfare-3GW) มีการใช้กลอุบายวางแผนและกองทัพติดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงมากขึ้น เช่น สงครามครามโลกครั้งที่ 2 ดูเพิ่มใน สันติ อุษณกรวงศ์, “สงครามยคที่ 4: การรบแบบกองโจรใน 3 จังหวัดภาคใต้” ผู้จัดการรายวัน (1 มีนาคม 2548) และ พล.อ.ธีรวัฒน์ ปัทมานนท์ การสงครามยุคที่ 4 (Fourth Generation Warfare) ยุทธโกษ ปีที่ 114 ฉบับที่ 3 (เมษายน - พฤษภาคม-มิถุนายน 2549).
[6] อิทธิ กวีพรสกุล, “จากอิรักถึง 3 จังหวัดภาคใต้” กรุงเทพธุรกิจ (5 มีนาคม 2547) หน้า 8.
[7] การได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ประกอบด้วย ระบบย่อย 6 ระบบ ได้แก่ ด้านการเมือง (ผู้นำ ความชอบธรรม) ความมั่นคงปลอดภัย (ตำรวจ ทหาร) ด้านสังคม (ชนพื้นเมือง ชนชั้น ชนกลุ่มน้อย) ด้านอุดมการณ์ (อนาคตที่ดีกว่า ค่านิยม เสรีภาพ) ด้านเศรษฐกิจ (อาหาร น้ำ ไฟฟ้า ที่พักพิง เจ้าของที่ดิน การเงิน) และ ด้านวัฒนธรรม (ศาสนา การศึกษา)
[8] พีระพงษ์ มานะกิจ, พล.ท.,ดร., มหากาพย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ When the Land of Smile Becomes A Killing Field, คลื่นอักษร, กรุงเทพฯ 2555 หน้า 154 – 156.
Leave a Comment