การสร้างความได้เปรียบในการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้

นายฮาวัง ญาบัต (กลาง) แกนนำบีอาร์เอ็น ในฐานะประธานกลุ่มร่วมเจรจา “มาราปาตานี” พร้อมด้วยสมาชิกจากลุ่มขบวนการต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในกรุงกัมลาลัมเปอร์ 27 ส.ค. 2558ที่ห้องประชุมชั้น 22 โรงแรมพรีเมียร่า ที่มาเบนาร์นิวส์ ปรับปรุงข้อมูล 17:00 ET on 2015-08-27 https://www.benarnews.org/thai/news/TH-TALK-MARA-08272015082313.html

ารขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพขององค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (INGOs) ด้วยการจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยความชอบธรรมจากหลักการสร้างสันติภาพของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศด้อยพัฒนาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ก่อให้เกิดความวิตกว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ประเทศมหาอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไทย อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงื่อนไขนำไปสู่การกำหนดใจตนเอง (Right to Self Determination-RSD)[1] แต่ไทยก็ยังสามารถแสวงประโยชน์จากองค์กรเหล่านั้นในการช่วยตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมภาพลักษณ์ทางบวกของประเทศและสร้างความได้เปรียบในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
          ข้อมูลเกี่ยวกับ CSOs ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดแบ่งตามแนวทาง (Track) ของกระบวนการสร้างสันติภาพ[2] ทั้งนี้ Track II มีจำนวน 45 องค์กร ประกอบด้วย 3 กลุ่มได้แก่ 1) NGOs ต่างประเทศ 2) NGOs ส่วนกลาง 3) NGOs และสถาบันวิชาการท้องถิ่น สำหรับ Track III มีจำนวน 516 องค์กร[3] แยกประเภทตามข้อมูลการข่าว คือ 1) กลุ่มพันธมิตรฝ่ายตรงข้าม คือ ภาคประชาสังคมที่มีการจัดกิจกรรมและ/หรือมีเป้าหมายที่กระทบต่อความมั่นคง อาทิ เรียกร้อง RSD ผู้ดำเนินงานมีแนวความคิด/พฤติการณ์ต่อต้านรัฐ หรือเคยถูกควบคุมตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความมั่นคง 2) กลุ่มแนวร่วม แบ่งเป็นแนวร่วมโดยตรง คือ ภาคประชาสังคมที่ตั้งใจจัดกิจกรรม/ดำเนินงานสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฝ่ายตรงข้าม และแนวร่วมมุมกลับ คือ ภาคประชาสังคมที่ถูกหลอกใช้/แสวงประโยชน์ให้จัดกิจกรรมสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฝ่ายตรงข้าม และ 3) กลุ่มเป็นกลาง คือ ภาคประชาสังคมที่มีการจัดกิจกรรม/ดำเนินงานตามหลักกระบวนการสากล
          การเข้ามาดำเนินงานในไทยของ IGOs และ INGOs สอดคล้องตามกรอบการวัดกระบวนการสร้างสันติภาพหรือ 5 เสาหลักของ UN (the UN’s 5 pillars of peace building) ได้แก่ 1) สันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณะ 2) กระบวนการทางการเมืองและการเลือกตั้ง ความสมานฉันท์และแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง 3) สิทธิมนุษยชน ระเบียบ/ข้อบังคับทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม 4) การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และ 5) การสนับสนุนบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ประกอบกับข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีจำนวน 9 ฉบับ โดยมี 7 ฉบับเกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นช่องทางให้องค์กรเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนหลักการสันติภาพของ UN ได้อย่างชอบธรรม (ผนวก)
          สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ถือเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้องค์กรต่างชาติ IGOs และ INGOs เข้ามาช่วยเหลือสร้างกระบวนการสันติภาพด้วยการจัดตั้ง CSOs ในท้องถิ่น ซึ่งซึ่งเรียกว่า Track III นอกเหนือจาก Track I (ผู้นำทหาร รัฐบาลและขบวนการ) และ Track II (ผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษา NGOs นักวิชาการนอกพื้นที่) โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรง 3 ประเภท ได้แก่ ความรุนแรงทางตรง (การทำสงคราม/ฆาตกรรม) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระบวนการยุติธรรม) และความรุนแรงทางวัฒนธรรม (เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา) ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพ โดยมีเป้าหมายความสงบสุขและบูรณภาพแห่งดินแดน แต่ CSOs ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามและแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กลับใช้กระบวนการสันติภาพเคลื่อนไหวให้เกิดเงื่อนไขการเรียกร้อง RSD ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน หรือเอกราชปัตตานี
          การดำเนินนโยบายพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ซึ่งจะรวมผู้เห็นต่างทั้งกลุ่มติดอาวุธและภาคประชาสังคมภายใต้องค์กรเดียวกัน (inclusive platform) นอกจากจะเป็นการหักล้างข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ BRN ในการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 2556[4]   ยังทำให้ไทยใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่ว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถือว่าเป็นการขัดแย้งด้วยอาวุธ (armed conflict) ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมของขบวนการใดๆ เหตุรุนแรงเกิดขึ้นแบบกระจัดกระจาย ไม่มีกลุ่มบุคคลใดที่มิใช่ฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใดได้ การที่รัฐบาลไทยต้องวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ ก็เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการกระทำรุนแรง เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม มิให้ NGOs OIC ICRC UN ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบหรือขอมีบทบาทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไทยควรเปิดกว้างให้ภาคประชาสังคมของไทย (ที่เป็นกลาง) สามารถเข้าไปตรวจสอบว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยก็ได้ลงโทษตามหลักนิติรัฐอย่างเคร่งครัด
มารา ปาตานี ออกแถลงการณ์ 4 ข้อถึงรัฐไทย โดยเปิดแถลงข่าว ณ บ้านหลังหนึ่งในเมืองโกตาบาลู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-43516716

          ขณะที่หลายฝ่ายตีความว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าเงื่อนไข non-international armed conflict (NIAC) ตาม Common Article 3 ของอนุสัญญาเจนีวา 4 ฉบับ ค.ศ.1949 ซึ่งไทยเป็นภาคี แต่การที่ผู้เห็นต่างจากรัฐขาดความเป็นเอกภาพในการพูดเป็นเสียงเดียว ในการเข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติสุข ภายใต้องค์กร MARA PATANI ที่มาเลเซียพยายามผลักดันจัดตั้งขึ้น กลับกลายเป็นจุดแข็งของไทยในการสนับสนุนการตีความว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เข้าข่าย NIAC ทั้งนี้ ไทยควรใช้ข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ด้วยการเจรจาในลักษณะที่กลุ่มผู้เห็นต่าง ต้องยอมรับผลการพูดคุยที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของท่าทีที่แตกต่างกันในบรรดาผู้เห็นต่าง โดยไทยเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ในข้อเรียกร้องน้อยที่สุด
          สำหรับการเรียกร้องเอกราชของดินแดนอาณานิคม และการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมักจะอ้างหลัก self-determination ภายใต้ข้อ 1 วรรค 2 ของกฎบัตรสหประชาชาติ โดยในข้อ 103 ของกฎบัตรสหประชาชาติบัญญัติไว้ว่าพันธกรณีของรัฐสมาชิกสหประชาชาติภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติย่อมเหนือกว่าพันธกรณีของรัฐสมาชิกสหประชาชาติภายใต้ความตกลงอื่นใด ในทางปฏิบัติมีนัยว่าการกระทำใดๆที่ขัดกับพันธกรณีภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติให้ถือเป็นโมฆะ ที่ผ่านมาไทยยึดถือ Vienna Declaration and Programme of Action ลงวันที่ 25 มิถุนายน ปี ค.ศ.1993 ที่ระบุในวรรค 2 ว่า การใช้สิทธิ self determination ต้องไม่แบ่งแยก หรือทำให้เสียหายทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งของบูรณภาพแห่งดินแดน  หรือ เอกภาพอธิปไตยทางการเมืองของรัฐ ซึ่งมีการปฏิบัติต่อประชาชนตามหลักการสิทธิเท่าเทียมกัน
          การรับมือ CSOs ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอาศัยกระบวนการสันติภาพในการบรรลุเป้าหมายเอกราช โดยฝ่ายรัฐยังคงมีความชอบธรรมและสามารถรักษาภาพลักษณ์ทางบวก คือ การสืบสวนเชิงลึกเพื่อเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่าง CSOs กับผู้ก่อความรุนแรง และแสวงประโยชน์จาก CSOs ที่มีแนวทางการเคลื่อนไหวเป็นกลางหรือจัดตั้ง CSOs ขึ้นใหม่ให้มีบทบาทนำแทน CSOs ที่เป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุรุนแรง หากมีกลุ่มผู้เห็นต่างคัดค้าน/ปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลควรใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นเพราะความความแตกแยกภายในของกลุ่มผู้เห็นต่างเอง รัฐบาลยังคงนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสันติ
          ส่วนการดำเนินการต่อ IGOs รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความร่วมมือโดยตรงอย่างใกล้ชิดและรู้เท่าทัน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฉบับต่างๆมาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามหลักสากล ทั้งนี้ ไม่ควรห้ามหรือตัดแหล่งทุน ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหา ยกเว้นแหล่งทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง




[1] ชำนาญ จันทร์เรือง, สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination Right)คอลัมน์ มองมุมใหม่ กรุงเทพธุรกิจ         (24 พฤษภาคม 2560) น.11
[2] คือ ลำดับของช่วงเวลา ขั้นตอนและกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในหลายระดับแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง (Track) ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของ Lederach (1997) โดย Track I คือ แนวทางที่เน้นบทบาทของผู้กำหนดนโยบาย หรือทิศทางของฝ่ายที่ขัดแย้งหลัก Track II เน้นบทบาทของกลุ่มหรือองค์กรประชาสังคม และ Track III คือ กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินการในระดับชุมชนรากหญ้า (กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน เมษายน 2556 น.44)
[3] แบ่งตามลักษณะกิจกรรมเป็น 11 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร 2) กลุ่มเยียวยา 39 องค์กร 3) กลุ่มสื่อสารสาธารณะ 17 องค์กร 4) กลุ่มการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม 252 องค์กร 5) กลุ่มทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 11 องค์กร 6) กลุ่มเศรษฐกิจ 55 องค์กร 7) กลุ่มสาธารณสุข 19 องค์กร 8) กลุ่มพัฒนาชุมชน 87 องค์กร 9) กลุ่มผู้หญิง 6 องค์กร 10) กลุ่มเยาวชน 18 องค์กร และ 11) กลุ่มบรรเทาสาธารณะภัย 17 องค์กร
[4] กลุ่ม BRN อ้างตนเป็นผู้แทนชาวปัตตานีและเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1) ผู้ยึดครองแห่งสยามต้อง (ยอม) รับ (รอง) มาเลเซียว่าเป็นคนกลาง (ผู้ไกล่เกลี่ย) ไม่ใช่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น 2) การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชนชาติ ปาตานี ซึ่งนำโดย BRN กับผู้ยึดครองแห่งสยาม 3) ในการพูดคุยกันนั้นต้องมีสักขีพยานที่มาจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน OIC และองค์กรอิสระ 4) ผู้ยึดครองแห่งสยามต้องให้อิสรภาพแก่ผู้ต้องคุมขังทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข และ 5) ผู้ยึดครองแห่งสยามต้องรับรองว่า BRN เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อยชนชาติปาตานี ไม่ใช่เป็นผู้แบ่งแยก

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.