กลยุทธ์การปฏิบัติการข่าวสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร)
การต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงครามยุคที่ 4) รัฐบาลจะต้องเอาชนะจิตใจ (Winning Hearts and Minds) ประชาชนด้วยกลยุทธ์การปฏิบัติการข่าวสารที่มีประสิทธิผล เพราะจุดมุ่งหมายของสงครามยุคที่ 4 คือ การทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวทางสังคมของศัตรู ผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรง เพื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว รู้สึกถูกคุกคาม ไม่แน่ใจในอนาคต สร้างความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในชาติ การจัดส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นเชิงปริมาณของฝ่ายรัฐ อาจกลายเป็นจุดอ่อน ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบนำไปโฆษณาชวนเชื่อ และกล่าวหาว่ารัฐกำลังพยายามดำเนินนโยบายผสมกลมกลืนใหม่ (neo-assimilation) ซึ่งแทนที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจกลับสร้างความหวาดระแวงมากขึ้น
ที่ผ่านมา การดำเนินงานการปฏิบัติการข่าวสาร ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งเน้นกระทำต่อระบบการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม จึงไม่สามารถสร้างผลกระทบต่อชัยชนะอย่างชัดเจน การเชื่อมโยงแบบหลวมๆของหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคง ทั้งในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ รวมทั้ง การขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก “วัฒนธรรมองค์กร” และมุมมองที่ต่างกัน (different views) ส่งผลให้การจัดทำงบประมาณ เพื่อปฏิบัติการข่าวสาร ไม่สามารถสนับสนุนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ได้อย่างชัดเจน ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่าองค์กรได้อะไรจากการจัดสรรงบประมาณการปฏิบัติการข่าวสาร ขณะที่หน่วยงานปฏิบัติการข่าวสาร ไม่สามารถสื่อสารให้หน่วยเหนือทราบถึงความสำคัญของการปฏิบัติการข่าวสาร
หลักการสำคัญในการสร้างกลยุทธ์การปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐควรใช้ความได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งในการแข่งขัน โดยพิจารณากำหนดข้อเสนอคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ ที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่เยาวชนผู้หลงผิดที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งมีหมาย ป.วิอาญาฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกลุ่มแนวร่วม ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติในสังคม ด้วยวิธีการที่มีความสะดวกและรวดเร็ว ส่วนการออกแบบห่วงโซ่คุณค่าหรือลำดับกิจกรรมขององค์กรที่ทำหน้าที่วางแผน รวบรวม ผลิต วิเคราะห์และกระจาย จะต้องทำข่าวกรองให้ครบวงจร กล่าวคือ การแสวงประโยชน์ (exploit) หรือหักล้าง (negate) การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้ามทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ
ข่าวสารและข่าวกรองที่ตรงประเด็น (Relevant Information and Intelligence - RII) คือ หัวใจของการปฏิบัติการข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นสำหรับการวางแผน การดำเนินการ ติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานข่าวกรองต้องดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้บัญชาการทหารทราบสภาพแวดล้อมในพื้นที่ขณะนั้น ก่อนที่ฝ่ายทหารจะเริ่มปฏิบัติการ ในการนี้ฝ่ายทหารจำเป็นต้องประสานกับฝ่ายข่าวกรองอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนของห่วงโซ่คุณค่า หน่วยงานปฏิบัติการข่าวสารควรพิจารณาใช้ข่าวกรองจากแหล่งเปิด (Open Source Intelligence - OSINT) ร่วมกับ RII ด้วย
จุดเด่นของ OSINT เป็นเรื่องต้นทุนในการรวบรวมข่าวสารต่ำกว่าการรวบรวมทางลับ นักวิจัยและนักหนังสือพิมพ์เป็นแหล่งข่าวที่มีคุณค่าของการข่าวกรองแบบใช้สายลับ ปัจจุบันสามารถหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการข่าวกรองได้จาก blogs และห้องสนทนาบนอินเตอร์เน็ตที่พูดถึงกิจการระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับหน้าจดหมายถึงบรรณาธิการ (op-ed) ของหนังสือพิมพ์คุณภาพ ภาพถ่ายคุณภาพสูงเกี่ยวกับการข่าวกรองปรากฏ ในเว็บ Google Earth และบริการอื่นๆที่คล้ายกัน การลงทุนด้าน OSINT ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการซื้อภาพถ่ายดาวเทียมและการใช้สายลับ โดยเฉพาะในประเทศที่หน่วยงานด้านการข่าวกรองต้องปฏิบัติการในสภาวะถูกจำกัดด้านงบประมาณ
ลักษณะการปฏิบัติการก่อความไม่สงบใน 4 จังหวัดภาคใต้ในขณะนี้ คล้ายคลึงกับยุทธวิธีปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธที่มุ่งโจมตีเป้าหมายที่มีการรักษาความปลอดภัยไม่เข้มงวด (soft target) เป็นลำดับแรก จากนั้นจะเริ่มการชักชวนหาคนมาฝึกอาวุธ โดยแสวงประโยชน์จากความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในชนบทและขยายการก่อความไม่สงบ เพื่อยั่วยุให้รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงกับพวกตน ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มขบวนการได้รับความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น
ปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมาตรการเด็ดขาดของทางการ ซึ่งคงจะหมายถึงการใช้ยุทธวิธีค้นหาและทำลาย (search and destroy) อาจส่งผลในทางตรงข้าม คือ นอกจากไม่สามารถทำลายเครือข่ายของกลุ่มผู้ก่อการ ยังจะทำให้กลุ่มขบวนการต่างๆที่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดตามลำดับได้รับการสนับสนุนจากมวลชนมากขึ้นอีกด้วย เว้นแต่รัฐบาลจะใช้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ประการ ควบคู่กัน คือ
1. การข่าวกรองและการใช้สายลับแทรกซึม (infiltration) เข้าไปในกลุ่มขบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้ข่าวสารเชิงลึกเกี่ยวกับยุทธวิธี ตลอดจนสามารถตีความและคาดการณ์ถึงหนทางปฏิบัติของกลุ่มก่อการร้ายได้ล่วงหน้า ในการนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับปรุงระบบงานข่าวกรองของประเทศ โดยเน้นการผลิตข่าวกรองแบบทันที (Real Time) แทนการผลิตแบบทันเวลา (Just In Time) หรือผลิตตามหัวข้อความต้องการข่าวสารที่เคยชินกันในอดีต และต้องพยามยามทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในการคิดและบังคับบัญชารวมทั้งการประสานการปฏิบัติ (Interoperability) ของทุกระบบในพื้นที่
2. ดำเนินนโยบายการเมืองนำการทหารหรือการทำสงครามจิตวิทยา พยายามเอาชนะใจประชาชนระดับฐานรากในพื้นที่ห่างไกล และเยาวชนมุสลิมที่ว่างงาน/ว่างการศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มหลงเชื่อตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
การรวบรวมข่าวกรองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แม้มีส่วนช่วยทำให้รัฐบาลสามารถประเมินสถานการณ์ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น และนำไปสู่การจับกุมสมาชิกเครือข่ายของผู้ก่อความไม่สงบได้จำนวนหนึ่ง แต่การที่ยังไม่ปรากฏว่ามีใครออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงรายวันมีส่วนทำให้มีการพูดถึงทฤษฏีสมคบคิด (Conspiracy Theory) กันมากขึ้น เนื่องเพราะความแตกต่างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในพื้นที่กับภาคอื่นๆของประเทศ กล่าวคือ ทั้งๆที่รัฐบาลมี “สื่อ” อยู่ในมือทุกชนิด แต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้
การต่อสู้รับมือกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพวกนี้ นักวิเคราะห์ข่าวกรองต้องพยายามคิดให้เหมือนว่าตัวเองเป็นพวกผู้ก่อการร้าย เพื่อที่จะคาดทำนาย (Predict) และป้องกัน (Prevent) ไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบปฏิบัติการได้สำเร็จ โดยจัดตั้งทีมจำลองสภาพเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆที่สามารถอ่านความคิดของผู้ก่อความไม่สงบ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นองค์ประกอบในทีมต้องเป็นนักคิดนอกกรอบ (Thinking outside the box) ที่มีความสามารถอย่างสูงในการใช้ความคิด การจัดตั้งทีมดังกล่าวขึ้นมาจะช่วยทำความเข้าใจได้ว่า ในการก่อเหตุแต่ละครั้ง ผู้ก่อความไม่สงบใช้อะไรเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ และอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจของผู้ก่อความไม่สงบ
ในที่สุดรัฐบาลคงจะต้องตัดสินใจบนทางเลือกนโยบายสำคัญระหว่าง 1) แนวทางสันติ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาวไทยมุสลิม ยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ สนับสนุนให้ชาวไทยมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมกระแสหลักมากขึ้น หรือ 2) แนวทางแข็งกร้าว ด้วยการใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปราม เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบคงจะไม่ต้องการเจรจากับรัฐบาล เนื่องจากเชื่อว่าพวกตนสามารถเอาชนะรัฐบาลได้ หากรัฐบาลเลือกใช้มาตรการทางทหาร ผู้ก่อความไม่สงบจะตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์
ภาพอนาคตของจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากสภาพที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญความรุนแรง กำลังมุ่งสู่สังคมพหุลักษณ์ศาสนาชาติพันธ์ ทั้งนี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในลักษณะที่อัตลักษณ์มลายูขัดกับอัตลัษณ์ไทย หากรัฐปรับตัวได้ก่อน หรือเปลี่ยนไปเป็นสภาพอัตลัษณ์มลายูเด่นชัด หากขบวนการปรับตัวได้ก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๒ ประการ ได้แก่ ด้านการเมือง คือ การปรับนโยบายแก้ไขปัญหาของรัฐ และการปรับแนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แนวโน้มด้านสังคมและคุณค่าน่าจะเป็นแรงผลักเสริมให้สถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
Leave a Comment