ไวรัส COVID-19 ทับถมความยุ่งยากในตะวันออกกลาง

ที่มาภาพ: COVID-19 Pandemic and the Middle East and Central Asia: Region Facing Dual Shock https://blogs.imf.org/2020/03/23/covid-19-pandemic-and-the-middle-east-and-central-asia-region-facing-dual-shock/

ารแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพิ่มความยุ่งยากให้กับปัญหาเผชิญหน้ารัฐบาลและสังคมในตะวันออกกลางและกลายเป็นความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายแก่หลายประเทศ ซึ่งไม่มีรัฐบาลหรือมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ขณะเดียวกันการตัดสินใจของ Mohammad bin Salman (MbS) มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียที่พยายามฟื้นอิทธิพลในการครอบงำตลาดน้ำมันโลก สร้างความตึงเครียดและกดดันทรัพยากรในภูมิภาคที่จำเป็นในการต่อสู้กับวิกฤติ COVID-19 รวมทั้งเผยให้แห็นผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งมีเจตนากดดันอิหร่านขั้นสูงสุด[1]
          ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่มาถึงตะวันออกกลางในรูปแบบของการระบาดใน Qom เมืองสำคัญทางศาสนาของอิหร่าน จากนั้นได้แพร่กระจายภายในอิหร่านและระบาดต่อไปยังภูมิภาค โดยผู้มาเยือนสถานที่ประวัติศาสตร์และมัสยิดสำคัญในอิหร่านแล้วเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา วิกฤติไวรัส COVID-19 ได้เพิ่มความท้าทายแก่ประเทศในภูมิภาคที่ล้มเหลวหรือกำลังล้มเหลวพร้อมกันมากกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ปัจจุบันของตะวันออกกลาง
          ความขัดแย้งลุกลามต่อเนื่องในเยเมน ซีเรีย อิรัก ลิเบียและอัฟกานิสถาน รัฐบาลในประเทศเหล่านี้บริหารบ้านเมืองเฉพาะในเขตแดนที่ตนปกครองเท่านั้น พื้นที่อื่น ๆ ของภูมิภาคเช่น ฉนวนกาซาและเลบานอน นักรบและกลุ่มติดอาวุธทำหน้าที่เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” และจำกัดอำนาจที่ได้รับการยอมรับของรัฐบาลกลาง หลายประเทศในภูมิภาคดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมากรวมทั้งผู้พลัดถิ่นภายในที่อาศัยอยู่ในสภาพแออัดและไม่สะอาด ซึ่งเอื้อต่อการแพร่กระจายของไวรัส แม้ในห้วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความขัดแย้งในเยเมนได้ก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของอหิวาตกโรคในประเทศ
          การขาดแคลนรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ ไม่เพียงสร้างความซับซ้อนให้กับการแก้ไขปัญหา ยังส่งผลต่อความพยายามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการเลือกใช้เครื่องมือกักกัน ห้ามการเดินทาง ปิดชายแดนและมาตรการอื่น ๆ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไวรัส ความท้าทายที่เผชิญหน้ารัฐบาลหรือหน่วยงานทางการเมืองในภูมิภาคคือ ความน่าสงสัยเกี่ยวกับการประกาศและสถิติอย่างเป็นทางการรวมทั้งการต่อต้านการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐในส่วนกลาง ทั้งนี้ รัฐบาลอิรักและเลบานอนกำลังเผชิญกับการก่อกบฏของประชาชนในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ COVID-19
นโยบายของรัฐบาลบางประเทศรวมถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯต่อตะวันออกกลางก่อนหน้านี้ ทับถมความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ท่ามกลางวิกฤติสาธารณสุขโลกที่อุบัติใหม่ เจ้าชาย MbS ผู้นำโดยพฤตินัย (de facto) ของซาอุดีอาระเบียทำสงคราม “ราคา” น้ำมันกับรัสเซีย หลังจากฝ่ายหลังปฏิเสธข้อเสนอลดการผลิตของโอเปค การลดกำลังการผลิตเป็นความพยายามสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำมันโลก ขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกลดลง
           เจ้าชาย MbS สั่งการให้ลดราคาน้ำมันส่งออกและเพิ่มปริมาณการผลิต โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้รัสเซียกลับสู่โต๊ะเจรจา[2] และกระทบผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ การตัดสินใจของเจ้าชาย MbS นอกจากทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ยังมีผลต่อความสามารถของผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียในการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการต่อสู้วิกฤติ CONID-19 ทั้งในระดับชาติรวมทั้งภูมิภาคและระดับนานาชาติ
รัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียและจีนได้ร่วมกับอิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านตามความจำเป็น เพื่อช่วยอิหร่านรับมือการระบาดของ COVID-19 จำนวนชาวอิหร่านที่ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคหลายเท่า สหรัฐฯคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์พหุภาคีในปี 2015 ทำให้บริษัทระดับโลกยุติการทำธุรกรรมกับอิหร่านรวมถึงการจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการยกเว้น อิหร่านและนักวิจารณ์กล่าวโทษว่า การคว่ำบาตรมีส่วนทำให้ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจและยารักษาโรคในการรับมือวิกฤติไวรัส แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวโทษว่า การขาดแคลนเกิดจากความผิดพลาดและไร้ความสามารถในการจัดการของอิหร่านมากกว่าการคว่ำบาตร
การวิพากษ์วิจารณ์ทำให้ความพยายามสร้างพันธมิตรต่อต้านอิหร่านของสหรัฐฯอ่อนแอลง สหรัฐฯได้เสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิหร่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 โดยออกแนวทางใหม่ที่ชัดเจนว่าการคว่ำบาตรของสหรัฯฐไม่ได้ใช้กับการขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ วิกฤติไวรัสโคโรนาทับถมความยุ่งยากที่มีอยู่ในตะวันออกกลางอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศรู้สึกถึงภาวะไร้ผู้นำและการเปลี่ยนมือภาวะผู้นำของสหรัฐฯในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น การหยุดชะงักของเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาด้วยสูญญากาศอำนาจที่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯพยายามแสวงประโยชน์



[1] COVID-19 COMPOUNDS MIDDLE EAST DIFFICULTIES INTELBRIEF Thursday, March 26, 2020 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/covid-19-compounds-middle-east-difficulties?e=c4a0dc064a
[2] กลุ่มโอเปกพลัสมีมติเมื่อ 12 เมษายน 2020 ลดการผลิตน้ำมันลง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน 2 เดือน เริ่ม 1 พฤษภาคม 2563 (รวมเม็กซิโก 0.1 ล้านบาร์เรล/วัน) แล้วลด 8 ล้านบาร์เรล ช่วง 1 กรกฎาคม – ธันวาคม 2563 และลด 6 ล้านบาร์เรล ช่วง มกราคม 2564 – เมษายน 2565 แต่การที่อุปสงค์ทั่วโลกหดตัวถึง 20 - 30 ล้านบาร์เรล/วัน ดังนั้นเห็นว่า ราคาน้ำมันปรับ ขึ้นได้ใน 2Q63F แต่ Brent ไม่น่าเกิน 45 US$/bbl (สูงสุดปีนี้ 71 ต่ำสุด 24 ปัจจุบัน 31 US$/bbl) Need to KNOW DBS Group Research Equity 13 - 17 Apr 2020 Available at:  http://www.efinancethai.com/research/DBSV/NeedToKnow_130420.pdf
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.