วินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน : โอกาสในการปรับปรุงระบบงานข่าวกรอง


ลกในยุคดิจิตอลกำลังเผชิญความท้าทายที่เรียกว่า VUCA[1] หรือ สภาวะความผันผวน (volatility) ไม่แน่นอน (uncertainty) ซับซ้อนยุ่งเหยิง (complexity) และคลุมเครือ (ambiguity) อันเป็นความปกติแบบใหม่ (New Normal) ที่มีทั้งความไร้เสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงแบบคาดไม่ถึง  ซึ่งทำให้ผู้บริหารมีเวลาน้อยลงในการตัดสินใจและตอบสนองปัญหาต่างๆ เหตุวินาศกรรม 17 จุด (วางระเบิด 13 จุด และวางเพลิง 4 จุด) ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อ 11-12 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน  ถือเป็นอุบัติการณ์นอกเหนือการคาดหมาย (อีกครั้ง) ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงได้อย่างเซ็งแซ่ ขณะที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกและเสนอให้รัฐบาล “ยกเครื่อง” ระบบข่าวกรองของประเทศ
          ในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (7 สิงหาคม 2559) หลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงในไทย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย นักเศรษฐศาสตร์และผู้ประกอบการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุรุนแรงครั้งนี้ประมาณ 33,800 ล้านบาท โรงแรมในพื้นที่ถูกยกเลิกการจองห้องพักร้อยละ 50 แต่สถาบันวิจัยหลักทรัพย์ส่วนใหญ่คาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะมีปฎิกิริยาเชิงลบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงสั้นไม่เกิน 3 เดือน ก่อนที่จะค่อยๆฟื้นตัวอีกครั้ง (หากทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้) โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์วินาศกรรมที่สำคัญในอดีตตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา[2] ยกเว้นเหตุระเบิดบริเวณซอยรามคำแหง 43/1 (26 พฤษภาคม 2556) ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงต่อเนื่องเพราะเป็นช่วงขาลง
          บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับสาเหตุ แรงจูงใจ และความเชื่อมโยงของเหตุวินาศกรรมดังกล่าวกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนำเสนอตัวแบบการจัดระบบงานข่าวกรองยุทธศาสตร์ในยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern) โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เหตุและผล (cause and effect analysis) รวมทั้งแนวคิดเรื่องความเสี่ยงของนายโดนัลด์ รัมส์เฟลด อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯระบุว่า 1) มีหลายสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ (known knowns) ซึ่งเป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ 2) เรารู้ว่ามีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ (known unknowns) คือ การไม่รู้ศักยภาพของความเสี่ยง และ 3) เราไม่รู้ว่ามีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ (unknown unknowns) เป็นความเสี่ยงประเภทร้ายแรงที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงแบบนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง[3] สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการวิเคราะห์ รวบรวมจากแหล่งข่าวเปิด (open source) ซึ่งปรากฎแพร่หลายทั้งแบบ Online และ Offline โดยไม่ใช้ข้อมูลจากการปฎิบัติการแต่อย่างใด
          ในที่นี้มีหลายสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ คือ ห้วงเวลาเกิดเหตุวินาศกรรมอยู่ระหว่าง 0215 – 0800 น. ลักษณะการวางระเบิดแบบต่อเนื่อง (double tap) และการจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลาจากเครื่องโทรศัพท์ คล้ายคลึงกับที่พบใน จชต. พิจารณาจากช่วงเวลาและสถานที่เกิดเหตุ คาดว่าผู้ก่อเหตุไม่ได้หวังผลให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่ แต่อาจต้องการส่งสาร (message) บางอย่าง ขณะที่เรารู้ว่ามีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ เช่น ใครเป็นคนวางระเบิด ใครเป็นผู้สั่งการ มีการเตรียมการและประสานการปฏิบัติอย่างไร ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ เราไม่รู้ว่ายังมีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ ได้แก่ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใน จชต.มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายภายนอกหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่ม IS ซึ่งมักประกาศอ้างการกระทำหลังก่อเหตุ[4] รวมทั้งกลุ่มชาวอุ้ยกูร์สุดโต่งซึ่งวางระเบิดศาลพระพรหมสี่แยกราชประสงค์เมื่อสิงหาคม 2558 จึงขอตั้งสมมติฐานว่า เหตุวินาศกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องภายในประเทศ โดยมีผู้ต้องสงสัย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงใน จชต. และ กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล[5]
กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผู้ต้องสงสัยรายแรก)

......การเกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ละครั้ง…….
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทิ้งคำตอบไว้มากมายในที่เกิดเหตุสำคัญว่าเราจะหาเจอหรือไม่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมักมองข้ามเพราะเหตุที่เหมือนกันก็พาไปหาคำตอบได้..และเหตุที่ต่างกันก็พาไปหาคำตอบได้เช่นกัน”[6]

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 12 ปี ถูกมองว่ากำลังตกอยู่ในสภาพอับจน (stalemate) กระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างในนาม MARA PATANI[7] หรือ Party B ประสบภาวะชะงักงัน ปัจจุบันกองทัพไทยมีเป้าหมายที่จะลดระดับสถานะของขบวนการ BRN หรือ “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบใน จชต.[8] และทำให้การก่อความไม่สงบลดลงจนกลายเป็นอาชญากรรมธรรมดา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการเจรจาพูดคุย ทั้งนี้ สถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ปี 2559 ลดลงจากปี 2558 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในแต่ละเดือนต่ำกว่า 13 คน นับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 สถิติการเสียเสียชีวิตรายเดือนลดลง 1 ใน 3 ของปี 2552 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 81 คน[9]
          แม้ในช่วงที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จชต. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก็ยังมีขีดความสามารถในการก่อเหตุโจมตีนอกพื้นที่พร้อมกันหลายจุด หลังจากพยายามก่อเหตุวางระเบิดในรถยนต์ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2556 (ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบภายหลัง) ผู้ก่อเหตุรุนแรงประสบผลสำเร็จในการวางระเบิดที่ อ.สะเดา จ.สงขลา และวางระเบิดรถยนต์บริเวณที่จอดรถใต้ดินห้างสรรพสินค้าบนเกาะสมุยเมื่อเมษายน 2558 เป้าหมายนอกพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงมุ่งโจมตีเมืองเศรษฐกิจ/แหล่งท่องเที่ยวชายแดนไทย - มาเลเซีย เช่น อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนไม่มาก (ไม่มุ่งโจมตีชาวตะวันตก)[10] ความเสียหายจากการโจมตีในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างจำกัด อาจเป็นเพราะเกรงว่าจะส่งผลในทางตรงข้ามกับที่ต้องการ
          ปฏิบัติการโจมตีพร้อมกันใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก และมีเวลาในการวางแผนและประสานงานอย่างดี รวมทั้งอาศัยเครือข่ายคนในพื้นที่สนับสนุน ส่วนวัตถุระเบิดมีขนาดเล็กพกพาได้ง่าย ตั้งเวลาจุดระเบิดด้วยนาฬิกาปลุกของโทรศัพท์ Samsung รุ่น Hero ความเสียหายในแต่ละจุดไม่มากแต่สร้างผลกระทบสูง เป็นรูปแบบการปฏิบัติการ (modus operandi) ของกลุ่ม BRN[11] ซึ่งมักใช้วิธีวางระเบิดแบบต่อเนื่องและไม่ประกาศอ้างความรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อน่าสงสัยว่าการจัดตั้งจุดตรวจครอบคลุมพื้นที่ 3 จชต.  ไม่สามารถหยุดยั้ง/สกัดกั้นการก่อเหตุโจมตีนอกพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ การขยายการโจมตีนอกพื้นที่ของผู้ก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขมากขึ้น[12]
          น่าสังเกตว่าในช่วง 10 วันแรกของเดือนสิงหาคม 2559 เกิดเหตุระเบิดถึง 50 ครั้งใน 3 จชต. โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพ่นสีสเปรย์ แผ่นป้าย ถนน และแขวนแผ่นป้ายผ้าข้อความต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ เพื่อก่อกวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลการลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใน 3 จชต. (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล อย่างมาก[13] หากการก่อวินาศกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใน จชต.ก็ถือว่าป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ
          กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล (ผู้ต้องสงสัยรายที่สอง)
          ความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติมีส่วนทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มนิยมใช้ความรุนแรงหรือ “กลุ่มฮาร์ดคอร์” ตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายที่สอง ห้วงเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าวตรงกับช่วงก่อนวันหยุดสำคัญ (ของสถาบันหลักแห่งชาติ) น่าเชื่อว่าผู้ก่อเหตุมีเจตนาทำลายความเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเพื่อปกป้องสถาบัน สำหรับสถานที่เป้าหมายวางระเบิด นอกจากเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยังเป็นจังหวัดที่ประชาชนจำนวนมากออกเสียงสนับสนุนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การที่หน่วยงานด้านความมั่นคงให้ความสนใจติดตามกลุ่มผู้เห็นต่างที่เคลื่อนไหวประท้วงด้วยแนวทางสันติ ทำให้มองข้ามภัยคุกความความมั่นคงที่แท้จริง
          รัฐบาล (ภายใต้) คสช. ยังคงมีความเปราะบางในการ (ทำหน้าที่) ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2558 ลดลงอย่างมาก ขณะที่การส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ (underperform)[14] อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นแหล่งรายได้สำคัญ คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 27 ล้านคน รับร่าง 15 ล้านคน ไม่รับร่าง 9 ล้านคน อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศได้เพียงเล็กน้อย  การก่อวินาศกรรมในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบน ผู้ก่อเหตุคงมีเจตนามุ่งโจมตีจุดตาย (achilles’ heel) ด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยตรง
          การสืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
          ในชั้นนี้ยากที่จะสรุปได้ว่าใครคือผู้ก่อเหตุ เพราะผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 กลุ่ม ต่างก็มีมูลเหตุจูงใจและ ขีดความสามารถสอดคล้องที่จะเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวได้พอๆกัน อย่างไรก็ดี การสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มมีความคืบหน้า ล่าสุดศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องสงสัย 10 คน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบใน 3 จชต. ได้แก่ 1) นายอาหะมะ เลงฮะ ก่อเหตุจังหวัดภูเก็ต 2) นายฮากีม ดอเลาะ ก่อเหตุจังหวัดนครศรีธรรมราช 3) นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ ก่อเหตุจังหวัดตรัง 4) นายรุสลัน ใบมะ ก่อเหตุจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 5) นายอัสมีน กาเต็มมาดี ก่อเหตุจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6) นายเสรี แวมามุ ก่อเหตุจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ถูกออกหมายจับคดีเหตุวางระเบิดคาร์บอมบ์โรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อ 31 มีนาคม 2555)[15] 7) นายซูกีมัน กูบารู หรือ ลุกมัน ก่อเหตุจังหวัดพังงา[16] 8) นายมูฮำหมัด มูฮิ 9) นายยูโซะ แมะตีเมาะ ก่อเหตุวางเพลิงแผงลอยขายเสื้อผ้า ตลาดพาราไดซ์ ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต[17] และ 10) นายซูกีมัน กูบารู ก่อเหตุ จ.พังงา[18]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นำภาพผู้ต้องหาคดีระเบิดใน จังหวัดภาคใต้ตอนบน ติดตั้งทางเข้า มุมเมืองของตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสในการติดตามตัว
ที่มาภาพ : https://news.thaipbs.or.th/content/255719

โอกาสและความท้าทายในการปรับปรุงระบบงานข่าวกรอง
          สถานการณ์ความไม่สงบใน จชต.กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง โดยเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว หมู่ 3 ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี (23 สิงหาคม 2559) และเกิดเหตุลอบวางระเบิดรางรถไฟบริเวณสถานีย่อยบ้านนิคมโคกโพธิ์ หมู่ 8 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี (3 กันยายน 2559) ทำให้โบกี้คันที่ 6 ของรถไฟขบวนที่ 176 สุไหงโกลก-หาดใหญ่ ซึ่งเป็นตู้ที่ทำการของเจ้าหน้าที่รถไฟขาด 2 ท่อน หลังจากนั้นเมื่อ 6 กันยายน 2559 คนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่องหนัก 20 กิโลกรัม ซุกซ่อนในรถจักรยานยนต์ หน้าร้านค้าตรงข้ามทางเข้าโรงเรียนบ้านตาบา ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้ นายมะเย็ง เวาะบะ และ ด.ญ.มิตรา เวาะบะ อายุ 5 ขวบ สองพ่อลูกเสียชีวิตทันที ทั้งนี้ หลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ โดยเฉพาะกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ จะได้รับความคุ้มครองและไม่มีเด็กคนใดต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอีกต่อไป[19]
          หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดที่หน้าโรงเรียนตาบา จ.นราธิวาส ฝ่ายการเมืองโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเปิดเผยว่า “การข่าวไม่ได้คลาดเคลื่อนและเราก็รู้ก่อน กรณีของรถไฟก็รู้ แต่ขั้นตอนและกระบวนการมันช้า เหตุการณ์ที่หน้าโรงเรียนบ้านตาบานั้นก็รู้ก่อน เจ้าหน้าที่แจ้งมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. ผมก็ได้เตือนไปแล้ว แต่อย่าไปพูดว่าเป็นความบกพร่องของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามทำงานอย่าไปซ้ำเติม ได้สั่งการไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ให้บูรณาการระหว่างตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะงานด้านการข่าวในพื้นที่จะต้องลงลึกให้ได้ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม”[20] แต่จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตามได้นำไปสู่การแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลหรือ “ครม.ส่วนหน้า”[21] เพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาและการสร้างความรับรู้/เข้าใจบนพื้นฐานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในลักษณะบูรณาการให้มีความคล่องตัว ทันต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในการปฏิบัติภารกิจเชิงยุทธศาสตร์[22]
          เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจของผู้บริหาร รัฐบาลอาจพิจารณาใช้ตัวแบบการดำเนินงานข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ของอดีตประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Jane’s Information Group[23] เป็นแนวทางในการปรับปรุงงานข่าวกรองของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
                    ขั้นตอนแรก การกำหนดพันธกิจ (Mission) และ วิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือ  ผู้กำหนดนโยบาย เพื่อประกาศเจตนา/ความตั้งใจที่จะนำประเทศไปสู่เป้าหมายข้างหน้า วิสัยทัศน์ สื่อถึงคุณค่าและทิศทางของประเทศต่อโลกภายนอก เป็นการสื่อสารทางการตลาด ส่วนพันธกิจ บ่งบอกวัตถุประสงค์และมาตรการชี้วัดความสำเร็จ สื่อสารถึงคนภายในประเทศหรือผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร
                    ขั้นตอนที่สอง การบรรยายสรุปประจำวันระหว่างนักวิเคราะห์และผู้กำหนดนโยบายในประเด็นที่ได้หารือเมื่อวันก่อนหน้า การบรรยายสรุปสามารถกระทำผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือหารือแบบพบหน้า (face-to-face) ควรใช้เวลาครั้งละ 15 - 20 นาที เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้สะท้อนความเห็นและมอบหัวข้อข่าวสาร (หขส.) ที่สนใจ
                    ขั้นตอนที่สาม การปรับปรุงข้อมูลข่าวสารให้ทันสมัยแก่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและผู้เกี่ยวข้องซึ่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเครื่องมือสื่อสารและระบบศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อให้บุคคลากรเหล่านั้นสามารถเข้าถึงข่าวสารที่ตรงประเด็น และมีจุดมุ่งเน้นได้ตลอดเวลา
                    ขั้นตอนที่สี่ วงรอบข่าวกรอง (intelligence cycle) และการวิเคราะห์ข่าวกรอง ควรให้ผู้กำหนดนโยบายได้สอบถาม มอบ หขส. ให้หน่วยข่าวกรองไปปฏิบัติการรวบรวม ขั้นตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับปรุงการตอบสนองข่าวกรองและควรบูรณาการเข้ากับขั้นตอนอื่นๆทั้ง 8 ขั้นตอน
                 ขั้นตอนที่ห้า กระบวนการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นกิจลักษณะทุก 6 – 12 เดือน เพื่อทบทวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในระยะยาว การทบทวนยุทธศาสตร์ควรมีข้อเสนอในการลดอคติความลำเอียงและปรับทิศทางที่จะมุ่งเน้น
                    ขั้นตอนที่หก การวางแผนวาดภาพอนาคต (scenario planning) เพื่อประเมินศักยภาพของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เริ่มจากการถกแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตที่เห็นได้ตามความเข้าใจ โดยจัดแบ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกเป็น 4 กลุ่ม ให้ทั้ง 4 กลุ่มวาดภาพอนาคตการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ 4 แบบ โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปและแบบถอนราถอนโคน
                    ขั้นตอนที่เจ็ด การเชื่อมต่อภาพ (mosaic method) เป็นกระบวนการนำข่าวกรองแต่ละชิ้นมาเชื่อมต่อกัน โดยใช้ภาพสถานการณ์ในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้นักวิเคราะห์และผู้ใช้ข่าวเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน บนพื้นฐานของภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน กรณีเกิดความขัดแย้งเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจฝ่ายตรงข้ามและสาเหตุของความขัดแย้ง รวมทั้งผลลัพธ์ที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการด้วย
                    ขั้นตอนที่แปด ควรกำหนดให้มีการประชุมหารือทุก 4 – 6 สัปดาห์ ในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานข่าวกรองทั้ง 6 ขั้นตอน เพื่อประเมินผลลัพธ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน รวมทั้งการหาทางปรับปรุงกระบวนการทำงาน ให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป
          บทสรุป
          ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นอกจากก่อให้เกิดข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย ปริมาณมาก คลุมเครือ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Big Data) ยังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในกระบวนการทำงานวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองอีกด้วย ความมุ่งหมายของการข่าวกรอง คือ การแสวงหาความจริง (fact) และรายงานความจริงอย่างซื่อตรงแก่ผู้กำหนดนโยบายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด ในอดีตผู้กำหนดนโยบายอาจมีเวลามากพอในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ แต่ในยุคดิจิตอลผู้บริหารมีเวลาน้อยลงในการตัดสินใจ บางครั้งอาจต้องตัดสินใจทันที (real time) ที่เกิดเหตุการณ์ การดำเนินงานข่าวกรองในปัจจุบัน จึงควรคำนึงถึงความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง ตรงประเด็น และให้ข้อคิด/มุมมองความเป็นไปได้ในแบบต่างๆแก่ผู้กำหนดนโยบาย




[1] คำอธิบายสภาวะแวดล้อมโลกหลังยุคสงครามเย็นช่วง ค.ศ.1991 ซึ่งไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรก แต่มีการอ้างถึงในเอกสารของวิทยาลัยการทัพบกสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
Harry R. Yarger, Strategic Theory for the 21st Century: The Little Book On Big Strategy (Carlisle Barracks, PA: U.S. Army War College, Strategic Studies Institute, 2006)17. http://handle.dtic.mil/100.2/ADA444141
Stephen J. Gerras, ed., Strategic Leadership Primer, 3rd ed. (Carlisle Barracks, PA: U.S. Army War College, 2004) https://www.carlisle.army.mil/orgs/SSL/dclm/pubs/slp3.pdf
James A. Lawrence and Earl N. Steck, Overview of Management Theory (Carlisle Barracks, PA: U.S. Army War College, 1991), ii & 34. http://www.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a235762.pdf
[2] บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (15 สิงหาคม 2559)สำนักวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้จำกัด (15 สิงหาคม 2559) และ จิตรา อมรธรรม “แรงระเบิดไม่มีผลต่อหุ้น”, โพสต์ ทูเดย์ (16 สิงหาคม 2559) น.A10 คอลัมน์ Happy Investor Corner
[3] การบรรยายสรุปที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2555 เกี่ยวกับการขาดหลักฐานเชื่อมโยงรัฐบาลอิรัก (ภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน) กับการจัดหาอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง (WMD) แก่กลุ่มก่อการร้าย
[4] Vikram Rajakumar, Insurgency in Southern Thailand:More Unrest Ahead? No. 167/2016 dated 4 July 2016 https://www.rsis.edu.sg/wp-content/uploads/2016/07/CO16167.pdf
[5] ZACHARY ABUZA, Two suspects in Thailand’s blasts (13 AUG, 2016) http://www.newmandala.org/TWO-SUSPECTS-THAILANDS-BLASTS/
[6] ข้อสังเกตุของ “คัมภีร์” เจ้าหน้าที่ข่าวกรองผู้มีประสบการณ์ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
[7] สภาความเชื่อมั่นแห่งประชาชนปาตานี (Majlis Amanah Rakyat Patani - MARA PATANI) จัดตั้งเมื่อ 15 มีนาคม 2558 เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้เห็นต่างทั้งกลุ่มติดอาวุธและภาคประชาสังคม จชต.ในการพูดคุยกับทางการไทย โดยมีดาโต๊ะซัมซามิน  ผู้อำนวย
ความสะดวกฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ผลักดัน ในชั้นนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่างในมาเลเซีย 6 กลุ่มเข้าร่วมได้แก่ BRN PULO-DSPP PULO-MKP
PULO-PBIPP และ GMIP
[8] ปกรณ์ พึ่งเนตร, อดีตรองแม่ทัพภาค 4 เชื่อ 80% ‘บีอาร์อ็นป่วน 7 จังหวัดใต้ กรุงเทพธุรกิจ (19 สิงหาคม 2559) น.14
[9] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 5
[10] ANDERS ENGVALL, Bombs, facts, and myths in southern Thailand (13 AUG, 2016)
[11] Anthony Davis, Denial not an option in Thai bombing aftermath, (August 24, 2016) 1:00 am JST
http://asia.nikkei.com/Viewpoints/Viewpoints/Anthony-Davis-Denial-not-an-option-in-Thai-bombing-aftermath
[12] RUNGRAWEE CHALERMSRIPINYORAT, Thai blasts a wake-up call for peace? (14 AUG, 2016)
[13] กันติพิชญ์ ใจบุญ, รธน.ปิดกั้นอัตลักษณ์ปม 2 จังหวัดใต้โหวต Noโพสต์ทูเดย์ (9 สิงหาคม 2559) น.B11
[14] JAKE MAXWELL WATTS and  NOPPARAT CHAICHALEARMMONGKOL, Thai Vote Result Heralds Economic Stability, if Not Democracy, The Wall Street Journal (Aug. 9, 2016 12:43 p.m. EThttp://www.wsj.com/articles/thai-vote-result-heralds-economic-stability-if-not-democracy-1470735485
[15] หมายจับคนที่ 6 ทีมบึ้ม 7 จว.ล่า 'เสรี แวมามุตูมยะรัง-เทพาชุด รปภ.ครูเจ็บ, ข่าวสด (10 กันยายน 2559) กรอบบ่าย
[16] ม.44 ตั้งครม.ส่วนหน้า ผู้แทน รบ.ดับ‘ไฟใต้’หมายจับเพิ่มบึ้มพังงา, แนวหน้า (16 กันยายน 2559) 
[17] คืบหน้าบึ้ม7จว.ใต้ สิ้นเสียง-ไม่สิ้นเหตุ, มติชนรายวัน (7 ตุลาคม 2559) น.1
[18] หมายจับรายที่10 เผา'กระบี่ยิงถล่ม-กดบึ้มปัตตานีเจ็บ 3มติชน (14 ตุลาคม 2559)
[19] ล้อมคอกข่าวกรองภาคใต้ 'ประวิตรยันรู้ล่วงหน้าก่อนระเบิดหน้าโรงเรียนนราธิวาสดับ 3 ราย, โพสต์ทูเดย์ (7 กันยายน 2559) น.B 12
[20] อ้างแล้ว, เชิงอรรถ 16
[21] ศักรินทร์ เข็มทองครม.ส่วนหน้า’อย่างเดียวไม่พอ ต้องเร่งสร้างเครือข่ายในพื้นที, กรุงเพพธุรกิจ ออนไลน์ (21 กันยายน 2559) http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/719001
[22] ม.44 ผุด ครม.ส่วนหน้าดับไฟใต้, ไทยโพสต์ (16 กันยายน 2559)
[23] Alfred Rolington,Strategic Intelligence for the 21st Century: The Mosaic Method, OXFORD University Press, 1st Edition 2013
Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.