การก่อการร้ายแบบผสานสองโลก (O2O): การต่อสู้เพื่อเอาชนะจิตใจ (Hearts and Minds) ในโลกเสมือน (Online) ตอนที่ 4

ที่มาภาพ: https://www.un.org/development/desa/youth/wp-content/uploads/sites/21/2020/08/IYD-2020-Podcast.png

Now more than ever we’re seeing young people from around the world express their desires to have a say in governmental issues and economic life. They want to be involved, they want to learn about how the world around them works, and they want to work to make it better for all of us. JENNY NOONAN

อันที่จริงนักเจาะระบบ (hackers) และผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพช่วยยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งมีความตั้งใจพื้นฐานอย่างกว้าง ๆ ในการ “ชักชวน” คนมาเป็นสมาชิกระดับล่าง (foot soldiers) โดยเล็งเป้าหมายเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ กลุ่มคนเหล่านี้มักมีความคับข้องใจและถูกแสวงประโยชน์โดยกลุ่มก่อการร้าย ในอนาคตจุดเปลี่ยนสำคัญของยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายไม่เกี่ยวข้องกับการจู่โจมและการเฝ้าตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่จะมุ่งเน้นแกะรอยความเปราะบางของประชากร “กลุ่มเสี่ยง” ผ่านการมีส่วนร่วมทางเทคโนโลยี[1]
          อนุมานว่า ร้อยละ 52 ของประชากรทั้งโลกในปี 2016 มีอายุต่ำกว่าสามสิบปี[2] ส่วนใหญ่ถูกเรียกว่า “กลุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจสังคม” อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในเมือง (urban slum) หรือชุมชนผู้อพยพที่ยากจนและในที่ซึ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) ไม่น่าเชื่อถือและโอกาสทางเศรษฐกิจมีจำกัด ความยากจน แปลกแยก การดูถูก ความอัปยศอดสู ขาดโอกาสและแปรเปลี่ยนได้ง่ายรวมทั้งความเบื่อหน่าย ทำให้ประชากรเหล่านี้มีจิตใจอ่อนไหว เมื่อเทียบเคียงกับฉากหลังการใช้อำนาจควบคุมบังคับและการส่งเสริมความรุนแรงในวัฒนธรรมย่อย จะเห็นความจริงที่ว่า ความคับข้องใจของเด็กสลัมด้อยการศึกษาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความรุนแรง ในทำนองเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มองไม่เห็นโอกาสหลังการศึกษาจบปริญญาในอนาคต
          Google Ideas[3] ได้ศึกษากระบวนการทำให้หัวรุนแรง (radicalization) ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเทคโนโลยีสื่อสารพบว่า กระบวนการทำให้หัวรุนแรงของผู้ก่อการร้ายมิได้แตกต่างจากที่เราเห็นมากนัก พวกมิจฉาชีพหรือกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ เหมือนกับกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง การประชุมสุดยอดต่อต้านความรุนแรงสุดโต่ง (Summit Against Violent Extremism) ในมิถุนายน 2011 มีอดีตพวกหัวรุนแรงกว่า 80 คนเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเปิดในหัวข้อ ทำไมปัจเจกบุคคลจึงเข้าร่วมองค์การหัวรุนแรงและทำไมพวกเขาละทิ้งองค์การนั้น
ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรง กลุ่มมิจฉาชีพในเมือง กลุ่มเผด็จการฟาสซิสต์และองค์การจิฮัด (Jihadist organizations) ผลปรากฎว่า กลุ่มเหล่านี้มีมูลเหตุจูงใจเหมือนกัน โดยศาสนาและอุดมการณ์มีบทบาทน้อยกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด เหตุผลที่คนเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงนั้นมีความซับซ้อนและมักเกี่ยวข้องกับการขาดเครือข่ายสนับสนุน ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เพื่อกบฏ ขอความคุ้มครองหรือไล่ล่าอันตรายและการผจญภัย
เยาวชนจำนวนมากมีความรู้สึกร่วมในเรื่องดังกล่าว โดยได้เผยแพร่ความคับข้องใจทางออนไลน์ด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจโฆษณาตนเองต่อผู้ชักชวน (recruiters) ของกลุ่มก่อการร้าย สิ่งที่เยาวชนหัวรุนแรงแสวงหาผ่านการเชื่อมต่อในโลกเสมือนจริงเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของพวกเขาในโลกกายภาพเช่น การทอดทิ้ง ปฏิเสธ การแยกตัว ความโดดเดี่ยวและการละเมิด เราอาจนึกถึงพวกเขาในแง่ดีในโลกเสมือนจริง แต่สุดท้ายการถอนความเป็นหัวรุนแรง (de-radicalization) ที่แท้จริงจำเป็นต้องมีการประชุมกลุ่มและการสนับสนุน รวมทั้งการบำบัดโรค (therapy) และทางเลือกที่มีความหมายในโลกกายภาพ
ถ้อยคำและการปราศรัยต่อต้านความรุนแรงสุดโต่งคงไม่เพียงพอสำหรับการต่อสู้เพื่อเอาชนะจิตใจเยาวชนเหล่านั้น อย่างไรก็ดี กองกำลังทางทหารจะไม่ทำงานนี้เช่นกัน (Military force will not do the job, either) เนื่องจากรัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการจับกุมและสังหารผู้ก่อการร้ายที่มีอยู่ แต่ด้อยประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการไหลบ่าของการชักชวนคนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย
พลเอก Stanley McChrystal[4] อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการร่วมปฏิบัติการพิเศษ (Joint Special Operations Command - JSOC) ของสหรัฐฯและ NATO ในอัฟกานิสถานกล่าวกับ Der Spiegel นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของเยอรมนีในปี 2010 ว่า สองสิ่งที่เอาชนะการก่อการร้ายได้คือ หลักนิติธรรม[5] และโอกาสสำหรับประชาชน หากคุณมีวิธีการปกครองที่ยินยอมให้คุณมีหลักนิติธรรม คุณจะมีสภาพแวดล้อมซึ่งยากที่จะแสวงหาการก่อการร้ายและหากคุณมีโอกาสในชีวิตสำหรับประชาชน รวมทั้งการศึกษาและโอกาสการมีงานทำ ถ้าอย่างนั้นคุณได้นำสาเหตุเลวร้ายที่สุดของการก่อการร้ายออกไป จริง ๆ แล้ว หนทางในการเอาชนะการก่อการร้ายไม่ใช่การโจมตีทางทหาร แต่เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขความจำเป็นพื้นฐาน
ยุทธศาสตร์การต่อต้านความรุนแรงที่มีศักยภาพมากที่สุดมีจุดมุ่งเน้นในพื้นที่ใหม่บนโลกเสมือนจริง (new virtual space) โดยจัดเตรียมให้เยาวชนมีเนื้อหาทางเลือกที่หลากหหลายและสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่ใฝ่หาความรุนแรงเป็นทางเลือกสุดท้าย ความพยามนี้ควรมีขนาดใหญ่และเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียที่มีภูมิหลังจากทุกภาคส่วนทั้งประชาชน บริษัทเอกชน ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างตัวแสดงในท้องถิ่นกับนักเคลื่อนไหวในต่างประเทศ
เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Technology) มีบทบาทที่โดดเด่นในการรณรงค์เรื่องนี้ ตั้งแต่คนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือเข้าสู่โลกออนไลน์ โทรศัพท์มือถือที่ถูกทำให้เป็นส่วนตัวและเป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลัง รวมทั้งสถานะเชิงสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้วางใจและให้คุณค่าอย่างลึกซึ้ง การเข้าถึงเยาวชนที่ไม่พอใจผ่านมือถือของเขาคือเป้าหมายที่เป็นไปได้มากที่สุดที่เรามี
เป็นที่น่าสังเกตว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) หรือถูกเรียกอย่างเหน็บแนมว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง”[6] (ภาษาถิ่นภาคใต้หมายถึงหวันเย็นหรือช่วงพลบค่ำ) เมื่อ 18 กรกฎาคม 2020 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเรียกร้องการปฏิรูป พวกเขาเป็นชาวพื้นเมืองดิจิตอล (digital native)[7] ซึ่งวางแผน นัดหมายเคลื่อนไหวบนโลกเสมือนจริงผสานการปรากฎตัวในโลกกายภาพ
ขณะนี้เราเห็นคนหนุ่มสาวทั่วโลก แสดงความปรารถนาที่จะมีปากมีเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่าที่เคย พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้การทำงานของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน[8] การทำความ “เข้าใจ” เพื่อจะ “เข้าถึง” (ไม่ใช่การคุกคาม) และรับฟังเสียงเรียกร้องของพวกเขามาพิจารณาไตร่ตรองหาทางออกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “พัฒนา” ร่วมกันอย่างยั่งยืนก็เป็นทางเลือกที่ดีมิใช่หรือ?



[1] ERIC SCHMIDT and JARED COHEN (2013), The new digital age: Reshaping the future of people, nations and business. NEW YORK, US: VINTAGE BOOKS. p. 177-182
[2] It's World Population Day: Key facts you should know The Economic Times Updated: 11 Jul 2016, 12:38 PM IST Available at: https://economictimes.indiatimes.com/nation-world/its-world-population-day-key-facts-you-should-know/6-5-of-all-the-people-whove-ever-lived-are-alive/slideshow/53150602.cms
[3] ปัจจุบันคือ Jigsaw เป็นหน่วยงานที่นำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาเชิงรัฐศาสตร์ - ความมั่นคง โดยเฉพาะการก่อการร้าย ล่าสุดลองหาวิธีรับมือคอนเทนต์และโฆษณาชวนเชื่อรับสมัครคนเข้าร่วมกลุ่ม ISIS ที่ไม่ใช่แค่ตรวจจับได้ว่าอะไรเข้าข่าย แต่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจกลุ่มเป้าหมายที่ ISIS เล็งจะชวนเข้าร่วมกลุ่มได้ โครงการดังกล่าวคือ Redirect Method ตั้งเป้าว่าจะเปิดใช้การประสานกันของแพลตฟอร์มวิดีโอ อัลกอริทึมโฆษณา ทำข้อมูลดักกลุ่มคนที่มีแนวโน้มสนใจแนวทางของ ISIS แล้วส่งข้อมูล-ข้อความห้ามปรามที่ไม่โจ่งแจ้งหรือประนามกลุ่ม ISIS รุนแรงเกินไปมาดักแทน เช่น วิดีโอภาพความลำบากของคนในซีเรียที่ต้องต่อแถวเพื่อรับอาหาร ซึ่งอาจจะช่วยเปลี่ยนความเชื่อของคนกลุ่มนี้ได้ สืบค้นที่ https://www.blognone.com/node/85358
[4] ผู้สนใจเรื่องการแบ่งปันองค์ความรู้อาจดูเพิ่มเติม Stanley McChrystal: The military case for sharing knowledge สืบค้นที่ https://www.english-video.net/v/th/1992
[5] หลักนิติธรรม (the rule of law) และหลักนิติวิธี (the rule by law) เผยแพร่: สิงหาคม 2549 19:05   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน สืบค้นที่ https://mgronline.com/daily/detail/9490000101501
[6] โพสต์เฟซบุ๊กของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร หรือ ผู้พันเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกกองทัพบก
[7] ชื่อเรียกอื่น เช่น “the net generation”, “Google generation” หรือ “the millennials” หมายถึงผู้ที่เกิดหลังทศวรรษที่ 1980 และเติบโตมาในยุคดิจิตอล ปัจจุบันมีอายุประมาณ 10 - 29 ปี วิธีคิด ประมวลข้อมูลข่าวสารของพวกเขาแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ดูรายละเอียดใน Digital Natives, Digital Immigrants By Marc Prensky สืบค้นที่ https://www.marcprensky.com/writing/Prensky%20-%20Digital%20Natives,%20Digital%20Immigrants%20-%20Part1.pdf มาจาก On the Horizon (MCB University Press, Vol. 9 No. 5, October 2001) © 2001 Marc Prensky
[8] International Youth Day: Rallying Almost Half the World’s Population BY JENNY NOONAN AUGUST 12, 2015 Available at: https://www.globalmomschallenge.org/2015/08/international-youth-day-rallying-almost-half-the-worlds-population/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.