ยุทธศาสตร์การก่อความไม่สงบ (insurgency): ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้คิดอย่างไร?
Imagine if in Bangkok and elsewhere, every day you leave your home to go to school, you have to pass military checkpoints, soldiers search you, go through your private belongings, take records of your IDs. Every day. Afnan Waekama[1]
แม้เป็นครั้งแรกที่ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) องค์การนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ในการชุมนุมใหญ่ของ “คณะประชาชนปลดแอก”[2] ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อ 16 สิงหาคม 2020 เขาได้แสดงความรู้สึกอัดอั้นว่า อำนาจทหารเข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของประชาชน ก่อนการเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2020) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้โอนอำนาจทั้งหมดให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ 16 ปีของปัญหาไฟใต้ แม้รัฐทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย แต่ก็ไม่เคยแก้ปัญหาให้เกิดสันติภาพขึ้นมา[3]
ประธาน PerMas เห็นว่า “ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่เป็นปัญหาทางการเมือง เม็ดเงินหนึ่งหมื่นล้านจากภาษีพวกท่าน ถูกเทไปที่นั่นทุกปี ทุกปี ทุกปีและมีคนตายทุกปี” เขาเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหาที่ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องของคนที่ชายแดนใต้อย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ information operation (IO) ทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน
หลายวันต่อมา ซูกริฟฟี ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Daily Dose ของหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล (คุณปลื้ม) ผู้ดำเนินรายการ ในช่วงหนึ่งของการสนทนา เขากล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามีคนที่ติดอาวุธสู้ เพื่อเป้าหมายทางการเมือง อาจจะพูดถึง Nation State แบบใหม่คือ ปกครองตัวเองในลักษณะเอกราชจริง มีจริงในพื้นที่ แต่สิ่งที่อยากพูดคือ อะไรทำให้สิ่งเหล่านั้นยังคงมีอยู่ สังคมแบบไหนกันที่ทำให้คนเห็นต่างเลือกที่จะติดอาวุธสู้”[4]
บทความนี้จะลองวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของการก่อความไม่สงบ (insurgency) โดยเชื่อมโยงกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์ทหารของ Lykke ซึ่งอธิบายยุทธศาสตร์เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ (Strategy) = วัตถุประสงค์หรือสิ่งที่ต้องการบรรลุ (ends) + หนทางปฏิบัติ (ways) + เครื่องมือหรือทรัพยากรที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ (means)[5] กับการวิเคราะห์จุดศูนย์ดุล (Center of Gravity - COG)[6] โดยเริ่มจากขั้นตอนสุดท้าย (final phase) ของการก่อความไม่สงบย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น ทั้งนี้ เราจำเป็นต้องรู้จุดหมายก่อนวางแผน
ขั้นตอนสุดท้าย (Final Phase) สภาวะสุดท้าย (end-state) ของการก่อความไม่สงบคือ การรวบรวมชัยชนะให้เป็นหนึ่ง โดยสถาปนาระเบียบสังคมการเมือง (sociopolitical order) บนพื้นฐานอุดมการณ์ของขบวนการ หนทางปฏิบัติ (ขีดความสามารถที่สำคัญ) ในการสถาปนาระเบียบดังกล่าวคือการมี (เครื่องมือ) “รัฐบาลปฏิวัติ” ที่มีความสามารถในการสถาปนากฎระเบียบ อำนาจ ดังนั้น รัฐบาลปฏิวัติคือ จุดศูนย์ดุลของขั้นตอนสุดท้ายของการก่อความไม่สงบและผู้ครอบครองจุดศูนย์ดุลในการสถาปนาระเบียบใหม่
ขั้นตอนการปฏิวัติ (Revolutionary Phase) ก่อนที่จะสถาปนาระเบียบใหม่ ต้องถอดถอนอำนาจที่มีอยู่เดิม การกำจัดอำนาจที่มีอยู่คือ สภาวะสุดท้ายของขั้นตอนการปฏิวัติ หนทางปฏิบัติในการกำจัดอำนาจเดิมคือการใช้กำลัง (จุดศูนย์ดุล) โดยการปฏิวัติ เครื่องมือที่เป็นเจ้าของขีดความสามารถที่สำคัญคือ กองกำลังติดอาวุธซึ่งเป็นจุดศูนย์ดุลของขั้นตอนการปฏิวัติ เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธเท่านั้นที่มีขีดความสามารถนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย
ขั้นตอนริเริ่ม (Initiation Phase) การปฏิวัติไม่ได้เป็นการวางแผนโดยธรรมชาติ ผู้นำต่าง ๆ วางแผนและจุดไฟเมื่อเขาเชื่อว่าถึงเวลาที่ถูกต้อง สภาวะสุดท้ายของขั้นตอนริเริ่มคือ การเริ่มต้นการปฏิวัติ หนทางปฏิบัติคือ การยั่วยุให้เกิดการปราบปรามหรือใช้ความรุนแรงตอบโต้จากอำนาจปัจจุบัน การชุมนุมของมวลชนเพื่อให้เกิดความไม่สงบ เครื่องมือที่เป็นเจ้าของขีดความสามารถที่สำคัญในการยั่วยุคือ กลุ่มติดอาวุธขนาดเล็ก (militant cell) ซึ่งก็คือจุดศูนย์ดุลของขั้นตอนริเริ่ม เพราะว่ากองกำลังที่ใช้ในการริเริ่มการปฏิวัติต้องมีขนาดเล็กกว่ากองกำลังที่จำเป็นในการเอาชนะการปฏิวัติ จุดศูนย์ดุลของขั้นตอนริเริ่มไม่ได้เป็นกองกำลังเดียวกัน ความต้องการที่สำคัญในขั้นตอนริเริ่มคือภาวะผู้นำและทักษะในการตัดสินใจเมื่อเริ่มต้นการปฏิวัติ
ขั้นตอนการสมคบคิด (Conspiratorial Phase) เซลล์การปฏิวัติและโครงสร้างการสนับสนุนจะต้องเข้าที่ก่อนการปฏิวัติเริ่มต้น การนำเซลล์เหล่านี้เข้าประจำที่คือสภาวะสุดท้ายของขั้นตอนการสมคบคิด หนทางปฏิบัติในการสร้างแรงจูงใจ (ขีดความสามารถที่สำคัญ) กองกำลังและฐานการสนับสนุน ซึ่งสำเร็จด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์/การเปลี่ยนศาสนา การฝึกทางทหารและการจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือที่สามารถทำสิ่งดังกล่าวได้คือ เซลล์ผู้ก่อความไม่สงบซึ่งมีศรัทธาที่แท้จริงสองประเภทคือ ผู้ให้การศึกษาหรือคณะผู้ปลูกฝังอุดมการณ์และผู้ฝึกทางทหารหรือองค์การติดอาวุธ กลุ่มเซลล์ในขั้นตอนก่อนการปฏิวัติคือ จุดศูนย์ดุลระหว่างขั้นตอนการสมคบคิด เนื่องจากพวกเขามีขีดความสามารถในการปลูกฝังอุดมการณ์ จูงใจและสร้างพลังการปฏิวัติ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นขีดความสามารถที่สำคัญในขั้นตอนต่าง ๆ และผู้ครอบครองหรือเจ้าของขีดความสามารถนั้น (จุดศูนย์ดุล) อันสืบเนื่องมาจากการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ หนทางปฏิบัติและทรัพยากร (เครื่องมือ)
การเชื่อมโยงกรอบยุทธศาสตร์กับแนวความคิดจุดศูนย์ดุลให้ภาพรวมที่มุ่งเน้นการกำหนดจุดศูนย์ดุล การเชื่อมโยงชี้ให้เห็นว่า กรอบแนวคิดวัตถุประสงค์ หนทางปฏิบัติและเครื่องมือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวิเคราะห์จุดศูนย์ดุล การเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ หนทางปฏิบัติและเครื่องมือเท่านั้นที่จะสามารถกำหนดขีดความสามารถที่สำคัญ (หนทางปฏิบัติ) ความต้องการที่สำคัญและจุดศูนย์ดุล (เครื่องมือ/ทรัพยากร) คือ ขีดความสามารถที่สำคัญ ซึ่งมีอยู่ในหนทางปฏิบัติและเครื่องมือหรือทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับขีดความสามารถที่สำคัญและการระบุจุดศูนย์ดุล
การทดสอบการปฏิบัติ/ใช้ทำให้ทางเลือกมีความสมบูรณ์ ไม่ใช่ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือเครื่องมือที่จะให้คำตอบที่ถูกต้องเสมอ แต่เป็นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและมุ่งเน้นการวิเคราะห์ที่เฉียบคม ส่งผลให้การเลือกจุดศูนย์ดุลได้อย่างถูกต้องบนพื้นฐานการตัดสินด้วยเหตุผล
[1] Afnan Waekama: living under Thailand’s military rule THISRUPT September 21, 2020in Current Affairs Available at: https://thisrupt.co/current-affairs/living-under-military-rule/
[2] เดิมชื่อกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” และกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เริ่มจัดชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2020 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยื่นข้อเสนอ 3 ข้อถึงรัฐบาล คือ หยุดคุกคามประชาชน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยและยุบสภา
[3] ประชาชนปลดแอก : ทำความรู้จัก 3 ดาวปราศรัยจากภาคอีสาน กลาง และใต้ BBC Thai 22 สิงหาคม 2020 สืบค้นที่: https://www.bbc.com/thai/thailand-53839341
[4] สถานการณ์ใต้ในยุคเผด็จการ...มีหวังดีขึ้นเมื่อไร? THE DAILY DOSE โลกการเมือง Aug 21, 2020 https://www.youtube.com/watch?v=omyXFXIEKcU
[5] Arthur F. Lykke Jr., “Defining Military Strategy = E + W + M,” Military Review 69, no. 5 (1989).
[6] Logical method of CENTER-OF-GRAVITY Analysis Colonel Dale C. Eikmeier, U.S. Army Military Review (September-October 2007) Available at:https://www.academia.edu/7384864/Logical_method_of_COG_Analysis
Leave a Comment