ความผิดปกติของข่าวสาร (information disorder) ขณะที่การเมืองไม่ปกติ

 

ที่มาภาพ: https://medium.com/@dr.vossdaniel/5-tips-to-look-after-your-mental-health-during-the-time-of-covid19-4febe2cf2753

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่า “ข่าวปลอม” หรือ “สื่อปลอม” อยู่เสมอ ข่าวปลอมเป็นปรากฏการณ์ที่ได้ยินมากในยุคการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต แต่อันที่จริงเนื้อหาที่แสดงความคิดเห็นชวนให้เชื่อจนเกินข้อเท็จจริง เกิดขึ้นมาก่อนยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู โดยมีคำเรียกสื่อประเภทนี้ว่า สื่อเหลือง (เพราะแต่ก่อน หนังสือพิมพ์แนวใส่สีตีไข่นิยมใช้สีเหลืองสีพิมพ์)[1] ขณะเดียวกันก็อาจได้ยินคำว่า ข้อมูลเท็จ (False information) ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) และข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ทั้งหมดนี้หมายถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (incorrect)[2]

          คำสัญญาของยุคดิจิทัลสนับสนุนให้เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทางบวกเมื่อเราอยู่ในชุมชนที่มีการเชื่อมต่อสูงสุด เราสามารถหาข้อมูลที่จำเป็นโดยการคลิกหรือปัดหน้าจอ ความเชื่อดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเรายอมรับว่าระบบนิเวศน์ข้อมูลของเราตกอยู่ในอันตรายของมลพิษซึ่งแบ่งแยกเรามากกว่าการเชื่อมต่อกัน Clare Wardle แห่ง First Draft ได้เขียนบทความเกี่ยวกับความไม่ปกติของข่าวสาร (ข้อมูล) ซึ่งถูกปรับใช้เป็นอาวุธ (weaponisation) มากขึ้น หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 โดยจัดแบ่งข้อมูลข่าวสารออกเป็น ประเภท[3]

          ข้อมูลที่ผิด (misinformation) คือ ข่าวสารที่ปลอมขึ้นมาหรือเนื้อหาเป็นเท็จ (False information) แต่บุคคลที่เผยแพร่ (agent) เชื่อว่าเป็นจริง ข้อมูลประเภทนี้มักถูกเผยแพร่โดยไม่ตั้งใจ (inadvertent) เช่น เราอ่านข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตหรือในไลน์ระบุว่า ชอคโกแลตทำให้คนเราฉลาดขึ้น (น่าขัน) แต่ก็ตัดสินใจแชร์ (ข้อมูลผิด) โดยไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลผิด แสดงว่าเราได้แชร์ข้อมูลที่ผิดไปแล้ว ข้อมูลที่ผิดขับเคลื่อนโดยปัจจัยทางจิตวิทยาสังคม บนสังคมออนไลน์ผู้คนแสดงอัตลักษณ์เพราะต้องการรู้สึกเชื่อมต่อกับเผ่า (tribe) พวกของตน

          ข้อมูลบิดเบือน (dis-information) คือ ข่าวสารที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ  ถูกบิดเบือนและคนที่เผยแพร่ก็รู้ว่าไม่เป็นจริง มีเจตนาโกหก (ออกแบบมาโดยมีเจตนาร้าย) เป้าหมายคือ กลุ่มคนที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย (โดยผู้ไม่ประสงค์ดี) จงใจเผยแพร่ เพื่อชักนำให้คนเข้าใจผิด[4] เช่น เราแชร์ข่าวว่า การบรรยายในวันศุกร์นี้ถูกยกเลิก (ทั้งที่เรารู้ว่าไม่ได้ยกเลิก) เท่ากับเราจงใจแชร์ข่าวสารที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ เมื่อข้อมูลบิดเบือนถูกแชร์ออกไปมักกลายเป็นข้อมูลที่ผิด

สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ไม่เหมือนกับข้อมูลบิดเบือน แม้ข้อมูลบิดเบือนอาจถูกใช้เพื่อส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อได้ แต่การโฆษณาชวนเชื่อมักมีการดัดแปลงที่เห็นได้ชัดกว่าข้อมูลบิดเบือน โดยส่วนใหญ่เน้นการส่งเนื้อความที่มีผลต่อความรู้สึกและอารมณ์มากกว่าการให้ข้อมูล[5]

          ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (malinformationคือ ข่าวสารที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำไปใช้เพื่อทำร้ายบุคคล องค์กร หรือประเทศ หรือข้อมูลที่ถูกสร้าง ผลิตหรือเผยแพร่โดย “ตัวแทน” ที่มีเจตนาร้ายมากกว่ารับใช้ประชาชน ตัวอย่างเช่น สายลับรัสเซียแฮค email คณะกรรมการระดับชาติของพรรคเดโมแครตและการหาเสียงของ Hillary Clinton แล้วปล่อยรายละเอียดสู่สาธารณะเพื่อทำลายชื่อเสียง

ภาพ AFP Fact Check https://factcheck.afp.com/these-photos-do-not-show-thai-pro-demoracy-protesters-throwing-shoes-and-bottles-royal-motorcade เพจแสดงเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิด (misleading) ว่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไทยขว้างปาวัตถุใส่ขบวนเสด็จ ซึ่ง AFP บันทึกภาพ (screen shot) ไว้ในแฟ้มเก็บภาวร (archived recordhttps://perma.cc/8Z6H-TTG2

          ข้อมูลที่ผิดมักประสบความสำเร็จเพราะเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ข่าวลือ การอ้างอย่างผิด ๆ (false claims) ภาพถ่ายและวิดิโอที่ถูกดัดแปลง (deepfake) สามารถแพร่ได้รวดเร็วยากที่จะบอกความถูกต้อง เราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรควรเชื่อ ความยุ่งเหยิงและสับสนอย่างนี้ คือ ความไม่ปกติของข่าวสาร (information disorder) ซึ่งเป็นปัญหาต่อสังคม คนเราสร้างข้อมูลเท็จ เพื่อหวังผลทางการเมือง สนุกสนานและหาเงิน คนทำรู้ว่ามีคนชอบแชร์ข่าวสารโดยไม่ตรวจสอบ (เช็คก่อนแชร์)

ปกติคนมักเชื่อข้อมูลที่ยืนยันทัศนะของตนหรือที่เรียกว่า ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (confirmation bias)[6] การแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดเป็นอันตรายอย่างยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ข่าวสารทางการเมืองที่ผิด (Political misinformation) เป็นอันตรายทำให้เข้าใจผิดหรือข่าวเท็จเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบบาลอาจทำให้คนโกรธ เปลี่ยนการลงคะแนนหรือก่อความไม่สงบ จงจำไว้ว่าทุกครั้งที่รับข่าวสารหรือแชร์โพสต์ วิดิโอ ก่อนเช็ค คุณอาจเพิ่มสภาวะความไม่ปกติของข่าวสาร

          การสื่อสารในปัจจุบันหลากหลายมากขึ้นและการส่งต่อข้อมูลทำได้หลายช่องทาง ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย ยังสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อยๆ ได้แก่

·      เรื่องเสียดสีและล้อเลียน

·      การเชื่อมโยงที่เป็นเท็จ

·      เนื้อหาที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อตั้งประเด็นหรือใส่ร้ายบุคคลให้เสียหาย ด้วยการตัดต่อภาพถ่ายหรือเลือกคำกล่าวที่จงใจคัดสรรมาให้เข้าใจผิด

·      บริบทที่เป็นเท็จ คือ ข้อมูลที่ถูกนำมาเผยแพร่นอกบริบทเดิม เช่น ภาพเหตุการณ์ในอดีต แต่ถูกนำมาส่งต่อโดยอ้างว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในปัจจุบัน

·      เนื้อหาที่เป็นการแอบอ้าง อาจจะแอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียงหรือแอบอ้างองค์กรเพื่อความน่าเชื่อถือ แต่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เผยแพร่เลย

·      เนื้อหาที่ถูกดัดแปลง เนื้อหาที่ถูกตัดต่อเพื่อหลอกหลวง

·      เนื้อหาที่กุขึ้นมา ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของข้อความหรือ “เว็บข่าว” ที่ “กุข่าวขึ้นมาเองทั้งหมด”

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเทคนิคที่เห็นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2016 มีวิวัฒนาการมากขึ้น โดยเพิ่มบริบทการใช้ข่าวสารเป็นอาวุธ การใช้เนื้อหาที่เป็นจริง เนื้อหาที่วิปริตและการจัดวางใหม่ประสบผลสำเร็จในแง่การโน้มน้าวและการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการดังกล่าวเป็นเพราะบริษัทสื่อสังคมตอบสนองการค้นหาและการเป่าหูมวลชน (mass audience) โดยปิดบัญชีปลอมและปรับนโยบายเข้มงวดมากขึ้นกับเนื้อหาปลอม เช่น Facebook มีโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking project)

ตัวแทนของการบิดเบือนข้อมูลเรียนรู้ว่า การใช้เนื้อหาที่เป็นจริงด้วยการจัดวางแบบใหม่ (reframe) และวิธีการทำให้เข้าใจผิดนั้น มีโอกาสน้อยที่จะถูกตรวจจับด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในบางกรณีเนื้อหาดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสมที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง

พวกเราทุกคนมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศน์ข่าวสาร ทุกครั้งที่เรายอมรับข่าวสารมาเฉย ๆ โดยไม่ตรวจสอบซ้ำหรือแชร์ข่าวสาร ภาพ วิดิโอก่อนตรวจสอบ เท่ากับเราได้เพิ่มเสียงรบกวน (noise) และความสับสนในระบบนิเวศน์ข่าวสารซึ่งในขณะนี้ถูกปนเปื้อน เราจึงต้องใช้ความรับผิดชอบอย่างอิสระ เพื่อตรวจสอบสิ่งที่เราเห็นทางออนไลน์[7]



[1] ‘ข่าวปลอม’ จากมุมมองนักปรัชญา เหตุผลของการมีอยู่และรับมือให้ได้ โดย เจิด บรรดาศักดิ์ อาจารย์ด้านปรัชญาและศาสนา THE MOMENTUM SEP 11, 2019 https://themomentum.co/philosophy-of-fake-news/

[2] What is INFORMATION DISORDER? SUSHI DAS Chief of staff, RMIT ABC Fact Check VDO clip Available at: https://education.abc.net.au/res/media-literacy/teachers-interactive/information-disorder/index.html

[3] Information disorder: ‘The techniques we saw in 2016 have evolved’ by Claire Wardle, First DraftOctober 21, 2019 Available at: https://firstdraftnews.org/latest/information-disorder-the-techniques-we-saw-in-2016-have-evolved/

[4] ดู การเสนอข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือน : คู่มือเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมด้านวารสารศาสตร์ UNESCO Available at https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000372137

[5] Neale, S. (1977). Propaganda. Screen 18 - 3, pp 9 - 40 อ้างใน การเสนอข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือน : คู่มือเพื่อการศึกษาและฝึกอบรมด้านวารสารศาสตร์ เอกสาร PDF สืบค้นที่ https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000372137

[6] ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (ความคิดฝ่ายตน) หรือ Confirmation bias เป็นความลำเอียงในข้อมูลที่ยืนยันความคิดหรือทฤษฎีหรือสมมติฐานฝ่ายตน มีความลำเอียงนี้เมื่อสะสมหรือกำหนดจดจำข้อมูลที่เลือกเฟ้นหรือเมื่อมีการตีความหมายข้อมูลอย่างลำเอียง https://th.wikipedia.org/wiki/ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน เรามักจะเห็นชอบหรือเห็นด้วยกับผู้ที่มีความคิดเห็นตรงกับเรา และปิดกั้น ไม่รับรู้ หรือแม้กระทั่งต่อต้านใครก็ตามที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามกับเรา แม้สิ่งที่ผู้ที่เห็นแตกต่างกับเรานำเสนอจะสมเหตุสมผล ถูกต้องตามหลักการซักเพียงใด ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวล้ำไปมาก ทำให้โอกาสแสดงความคิดเห็นของเรามีมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการรับรู้ความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิด Confirmation Bias ใครมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา จึงมักจะถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามทันที ดู อคติ ความลำเอียง สาเหตุสำคัญของความไร้เหตุไร้ผลไร้หลักการ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ มิถุนายน 2557 สืบค้นได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/585671

[7] Fake news. It’s complicated. by Claire Wardle FIRST DRAFT February 16, 2017 Available at: https://firstdraftnews.org/latest/fake-news-complicated/

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.