โลกจะเป็นอย่างไรหากวินาศกรรม 9/11 ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

 

ที่มาภาพ: https://www.gzeromedia.com/the-graphic-truth-the-cost-of-america-s-post-9-11-wars

You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards. So you have to trust that the dots will somehow connect in your future. You have to trust in something — your gut, destiny, life, karma, whatever. This approach has never let me down, and it has made all the difference in my life.

~ Steve Jobs

นับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรรม 9/11 โลกของเราปลอดภัยขึ้นจากการก่อการร้ายหรือไม่และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้นหาก (what if) การโจมตีดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์ 9/11 และผลที่ตามมาส่งผลกระทบภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างไร บทความนี้จะพยายามหาคำตอบ

การโจมตีของผู้ก่อการร้ายในนิวยอร์กและวอชิงตันเมื่อ 11 กันยายน 2001 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปลักษณ์ (Transformation) อย่างไม่มีวันหวนกลับ วัฒนธรรมป๊อปพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Lisa สวมชฎาไทยหรือเขมรในมิวสิควิดิโอ LaLisa) เช่นเดียวกับการกิน (อาหาร) สื่อสาร ทำงานและการรับข้อมูลของเรา การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical) ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเห็นได้จากจำนวนผู้สังเกตการณ์ยุคหลัง 9/11 สถานการณ์ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจส่งผลต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ระดับโลก[1]

          ประการแรกจีนเติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี 2001 จีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก GDP ต่อหัวอยู่ของจีนอยู่ที่ 1,053 ดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ 10,500 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ขณะนี้บรรดาผู้นำของจีนต่างพูดถึง “ยุคใหม่” ที่จีนจะขยับเข้าใกล้ “ความเป็นศูนย์กลาง” ของกิจการโลก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเรียกร้องให้ใช้ “ตัวแบบจีน” ในการแก้ไขปัญหาโลก

          ผลประโยชน์ด้านภูมิศาสตร์การเมืองของจีนในปี 2001 ไม่ได้กำหนดขึ้นเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ (ในทางกลับกันสหรัฐฯก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับจีน) หลังเหตุการณ์ 9/11 อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงความเห็นใจสหรัฐฯและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) รวมทั้งข้อมติต่อต้านการก่อการร้ายที่ให้ขับไล่กลุ่มตอลิบานซึ่งให้ที่หลบภัยแก่อัล-ไคดา

          ความร่วมมือดังกล่าวยังห่างไกลจากสิ่งที่เราเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นสมาชิก UNSC ที่มีอำนาจยับยั้ง (veto) ได้ใช้อำนาจของตนขัดขวางข้อมติที่สหรัฐฯเป็นผู้ผลักดัน เมื่อถึงวาระอัฟกานิสถาน จีนมีท่าทีเปิดกว้างที่จะให้การยอมรับกลุ่มตอลิบาน ขณะนี้จีนกำลังดำเนินการต่อต้านผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของสหรัฐฯในภูมิภาคดังกล่าว

          ประการต่อมา สหรัฐฯคงไม่อยากเป็นตำรวจโลกอีกต่อไป กันยายน 2001 เป็นช่วงที่สหรัฐฯก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจหลังสงครามเย็น โดยเป็นมหาอำนาจที่ครอบงำโลก (Global Hegemony) ซึ่งไม่มีใครเทียบได้ แม้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการแทรกแซงความขัดแย้งในแอฟริกาและอดีตยูโกสลาเวีย แต่ก็มีฉันทามติภายในประเทศเกี่ยวกับวิธีการ (how) และห้วงเวลา (when) ในการใช้พลังอำนาจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการโจมตี 9/11 บาร์บารา ลี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (พรรคเดโมแครตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) เพียงคนเดียวที่ออกเสียงคัดค้านการทำสงครามในอัฟกานิสถาน

          การเมืองสหรัฐฯเผ็ดร้อนรุนแรงอยู่เสมอ หลังเหตุการณ์ 9/11 มีความเห็นพ้องมากขึ้นเกี่ยวกับ “ภารกิจ” ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานและแทบจะไม่มีการคัดค้านความคิดที่ว่าสหรัฐฯควรจะ “ขยายค่านิยมทางการเมือง” ในวงกว้างมากขึ้น ดังที่ Ian Bremmer นักรัฐศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ความเห็นพ้องระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในวันนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและชาวอเมริกันผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ต้องการเป็น “ผู้ส่งเสริมค่านิยมร่วมกัน” อีกต่อไป

          ห้วงตุลาคม 2001 ชาวอเมริกันร้อยละ 80 สนับสนุนการแทรกแซงอัฟกานิสถานทางภาคพื้นดินเพื่อหาตัวผู้ก่อการร้ายที่โจมตีนครนิวยอร์ก ตรงกันข้ามกับเวลานี้มีคนจำนวนน้อยที่เห็นด้วยกับการส่งทหารอเมริกันไปยังพื้นที่ขัดแย้งอันห่างไกล ขณะที่ชาวอเมริกันในประเทศกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาชญากรรมรวมทั้งปัญหาการเมืองภายในอื่น ๆ ที่มีความความสำคัญ ทหารสหรัฐฯ 13 นายถูกสังหารระหว่างการอพยพถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการตอกย้ำจุดยืนดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯกำลังดำเนินนโยบายแยกตัวจากชาติอื่น (Isolationist) อย่างไรก็ดี บทบาทของสหรัฐฯที่มีต่อโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

          ประการสุดท้าย สงครามคือ อะไรกันแน่? ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯใช้กำลังทางภาคพื้นดินในการกดดันฝ่ายศัตรู ปัจจุบันการทำสงครามและการรบได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก เครื่องบินไร้คนขับล้ำสมัยและ “โดรนล่าสังหาร” ถูกนำมาใช้ในภารกิจสอดแนมและการทำสงคราม อีกทั้งเป็นทางเลือกที่แม่นยำและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการปฏิบัติภารกิจทางอากาศแบบดั้งเดิม กองทัพส่วนใหญ่รวมถึง NATO กำลังมองหาวิธีใช้เทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายโดยไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ของภารกิจ

          สหรัฐฯได้พัฒนาเทคโนโลยีโดรนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนก็ให้ความสำคัญกับการยกระดับเกมการใช้โดรนมากขึ้นเช่นกัน ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบริษัท Aviation Industry Corps ของรัฐบาลจีนขายเทคโนโลยีโดรนขั้นสูงให้กับ 16 ประเทศเป็นอย่างน้อยและกำลังสร้างโรงงานผลิตโดรนในซาอุดีอาระเบีย

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าการผลิตโดรนก่อให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธรูปแบบใหม่ แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีโดรนซึ่งถูกใช้ในสถานการณ์เสหมือนการทำสงคราม บางครั้งถูกใช้โดยตัวแสดงผู้ไม่หวังดี (อาเซอร์ไบจานใช้โดรนที่ตุรกีจัดหาให้เพื่อต่อต้านอาร์เมเนียกรณีขัดแย้งนากอร์โน-คาราบาคห์ในปีที่แล้ว ขณะที่รัสเซียตกลงจะส่งมอบโดรนให้กองทัพเมียนมาร์ผู้กดขี่)

          รัฐบาลสหรัฐฯใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก (Global War on Terror)  ซึ่งรวมถึงการโจมตีอิรักและอัฟกานิสถานตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างจำกัดในความขัดแย้งอื่นๆ รอบตะวันออกกลางและเอเชีย สร้างความเสียหายอย่างเหลือคณานับ มีผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งล้านคนและผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นภายใน 38 ล้านคน

ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ และผู้รับเหมาด้านการป้องกันประเทศก็ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล หากคุณลงทุนในบริษัทเหล่านี้ในปี 2001 จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของมูลค่าเฉลี่ยของหุ้นบลูชิปในช่วงเวลาดังกล่าว[2]

แนวโน้มสงครามในอนาคตจะต่อสู้ด้วย “อาวุธไซเบอร์ (cyber-weapons)” เป็นหลักมากกว่าการใช้กำลังทางอากาศที่บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน อันที่จริงสมรภูมิไซเบอร์ (cyber space) เป็นพื้นที่อันตรายของความขัดแย้ง ไม่เพียงการทำสงครามจริง แต่ยังรวมถึงการก่อการร้ายและ 9/11 ครั้งต่อไปด้วย



[1] Enter China, exit policeman: How the world has changed since 9/11 By Gabrielle Debinski GZERO September 09, 2021Available at: https://www.gzeromedia.com/enter-china-exit-policeman-how-the-world-has-changed-since-911

[2] The Graphic Truth: The cost of America's post-9/11 wars By Carlos Santamaria and Gabriella Turrisi GZERO September 08, 2021 Available at:  https://www.gzeromedia.com/the-graphic-truth-the-cost-of-america-s-post-9-11-wars

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.