ความไม่สงบแปลก ๆ ในคาซัคสถานสะท้าน BITCOIN
การก่อความไม่สงบในคาซัคสถานเมื่อต้นมกราคม 2022 เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของผู้นำเผด็จการ นับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต เหตุดังกล่าวเริ่มจากการประท้วงเรื่องการขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แต่สะท้อนความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายกดขี่และการผูกขาดอุตสาหกรรมของประเทศ การที่รัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปรักษาความสงบตามคำร้องขอของคาซัคสถาน บ่งชี้ความกังวลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เกี่ยวกับการปิดล้อมของประเทศเพื่อนบ้านที่ฝักไฝ่ตะวันตกและการขยายกองกำลังนาโต[1] ความไม่สงบอาจทำลายกิตติศัพท์ด้านความมั่นคงทางการเมืองของคาซัคสถาน ผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ[2]
รัฐบาลคาซัคสถานประกาศขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นสองเท่าในวันขึ้นปีใหม่ สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนทางภาคตะวันตกซึ่งนิยมใช้เติมรถยนต์จึงออกมาประท้วงจนเป็นเหตุลุกลาม ดูเหมือนว่าผู้ประท้วงเข้ายึดสนามบินของเมืองอัลมาตีและเผาหรือบุกเข้าไปในหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ประธานาธิบดีคาสซิม-โจมาร์ต โตกาเยฟออกคำสั่งให้คณะรัฐมนตรีลาออกทันที ยกเลิกการขึ้นราคาน้ำมันและประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 15 วัน
ในวันต่อมาประธานาธิบดีโตกาเยฟ เดินหน้าปราบปรามการจลาจลอย่างรุนแรงและออกคำสั่งให้กองกำลังรักษาความมั่นคง “ยิงสังหารโดยไม่มีการแจ้งเตือน” และร้องขอให้รัสเซียและองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO)[3] ช่วยเหลือในการจัดการภัยคุกคามที่เขาระบุว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่ได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศโดยไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบทบาทของคาซัคสถานในการเป็นหุ้นส่วนการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศรวมทั้งการส่งตัวพลเมืองที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) กลับประเทศต้นทาง
เมื่อ 7 มกราคม 2022 หลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของผู้ประท้วงหลายสิบคนนับตั้งแต่การจลาจลเริ่มต้น รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ในเมืองใหญ่ ๆ ไว้ได้ แต่ยังได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะ ๆ เป็นที่น่าสังเกตุว่าผู้มีบทบาทระหว่างประเทศให้ความเห็นและวิจารณ์สถานการณ์ในคาซัคสถานค่อนข้างน้อย แม้แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดปิดประชุมประจำปีเรื่องเอเชียกลางก็ยังไม่มีวาระในประเด็นนี้ ส่วนโปแลนด์ในฐานะประธานองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)[4] ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 5 มกราคม 2022 เรียกร้องให้มีการลดระดับความรุนแรง
ในเบื้องต้นผู้ประท้วงอ้างการขึ้นราคาน้ำมันเป็นเหตุก่อความวุ่นวาย ทั้งที่คาซัคสถานเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักของการประท้วงครั้งนี้ คือ การต่อต้านเผด็จการทางการเมืองและโครงสร้างเศรษฐกิจที่ควบคุมประเทศ ตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 จนถึงปี 2019 ประเทศนี้ถูกปกครองโดยนูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ซึ่งมักจะปราบปรามการก่อความไม่สงบและกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ในปี 2019 นาซาร์บาเยฟลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ แต่อยู่เบื้องหลังในฐานะประธาน “สภาความมั่นคง” ที่ทรงอำนาจ ครอบครัวนาซาร์บาเยฟควบคุมผูกขาดการทำธุรกิจสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซรวมทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก โดยกีดกันผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งจุดชนวนความคับข้องใจและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
เพื่อระงับความโกรธเคืองนาซาร์บาเยฟที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบ เมื่อ 5 มกราคม 2022 ประธานาธิบดีโตกาเยฟได้ปลดนาซาร์บาเยฟออกจากตำแหน่งในสภาความมั่นคง ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสอง อย่างไรก็ดี การจับกุมคาริม มัสซิมอฟ[5] อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของคาซัคสถาน พันธมิตรใกล้ชิดของนาซาร์บาเยฟด้วยข้อหา “ต้องสงสัยก่อการกบฏ” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจภายในระหว่างผู้นำทางการเมือง
ข้อพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitic) กองกำลังพิเศษประมาณ 2,500 นายนำโดยรัสเซียที่ถูกส่งไปรักษาความสงบตามคำร้องขอของคาซัคสถาน คือ กำลังทหารประจำการภายใต้องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลของประเทศอดีตสหภาพโซเวียต
ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่ากองกำลังดังกล่าวจะถอนออกจากคาซัคสถานเมื่อใด แต่ที่ชัดเจนคือมีความกังวลว่ากองกำลังเหล่านี้อาจประจำการอย่างถาวรเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ การเคลื่อนกองกำลัง CSTO อย่างรวดเร็วคงเป็นเพราะรัสเซียเกรงว่า สถานการณ์ความไม่สงบร้ายแรงมากพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลพันธมิตรระดับนำของตนและไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมประธานาธิบดีปูตินถึงตัดสินใจบุกโจมตียูเครนในช่วงต้นปี 2022 ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนพยายามหาทางดักหน้าด้วยวิธีทางการทูตและขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
นโยบายของประธานาธิบดีปูตินต่อประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ขอบเขตอิทธิพล” ของรัสเซียมีแรงจูงใจจากสิ่งที่เขาอ้างว่าสหรัฐฯพยายามขยายสมาชิกนาโตประชิดพรมแดนของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าคาซัคสถานกำลังหาหาทางหรือได้รับข้อเสนอเข้าเป็นสมาชิกนาโต นอกจากนี้ ไม่มีอะไรยืนยันข้ออ้างของประธานาธิบดีโตกาเยฟที่ว่า “ผู้ก่อการร้าย” เช่น รัฐอิสลาม (IS) อัล-ไคดาหรือขบวนการอิสลามแห่งอุซเบกิสถานอยู่เบื้องหลังความไม่สงบ
ประเด็น “ผู้ก่อการร้าย” น่าจะเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ประท้วงภายใต้กฎเกณฑ์การต่อต้านการก่อการร้ายอันเป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน การนำกำลังเข้าแทรกแซงของรัสเซียไม่เพียงเป็นโอกาสให้ประธานาธิบดีปูตินสร้างความมั่นใจแก่ประชากรร้อยละ 20 ของคาซัคสถานที่มีเชื้อสายรัสเซีย อีกทั้งป้องปรามไม่ให้คาซัคสถานขยายความสัมพันธ์กับสหรัฐฯหรือจีนซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาซัคสถานกับจีนได้ร่วมดำเนินโครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มแถบและทาง (BRI) ของจีน เพื่ออำนวยความสะดวกเส้นทางผ่านยูเรเซีย นอกจากนี้ จีนพยายามหาทางพัฒนาแหล่งแร่ขนาดใหญ่ของคาซัคสถานรวมทั้งแหล่งแร่ยูเรเนียม ซึ่งทำให้ประเทศนี้มีความสำคัญต่อการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก
ความไม่สงบส่งผลกระทบตลาดพลังงานโลกและอนาคตของอุตสาหกรรมน้ำมันของคาซัคสถาน ซึ่งส่งออกน้ำมันวันละ 1.6 ล้านบาร์เรล (ร้อยละ 2 ของการค้าน้ำมันทั่วโลก) คาซัคสถานมีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งน้ำมัน Tengiz บนชายฝั่ง ซึ่งบริษัท Chevron และ Exxon-Mobil ของสหรัฐฯกำลังพัฒนาและแหล่ง Kashagan ในทะเลสาบแคสเปียน ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทระดับโลก เช่น Exxon-Mobil, Royal Dutch Shell, Total ของฝรั่งเศสและ ENI ของอิตาลี ทั้งนี้ คาซัคสถานยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับที่ 15 ของโลกด้วย
อนาคตการลงทุนด้านพลังงานในคาซัคสถานอาจหยุดชะงักจากปัญหาความไม่สงบ ประกอบกับแรงกดดันของรัสเซียในการต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตะวันตก ไม่ว่านักลงทุนทั่วโลกจะตอบสนองเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างไร รัฐบาลคาซัคสถานคงจะต้องปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่หรือมิฉะนั้นความไม่สงบอาจปะทุขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการขุดเหรียญ Bitcoin ของคาซัคสถาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองคริปโตขนาดใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ การปิดระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมในประเทศทำให้ราคา Bitcoin ลดลงเหลือ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ/เหรียญ (ราคาหน้าเหมือง ปัจจุบันเหรียญละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่ำสุดนับตั้งแต่กันยายน 2020
[1] องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)
[2] UNPRECEDENTED UNREST ERUPTS IN KAZAKHSTAN Monday, INTELBRIEF January 10, 2022 https://mailchi.mp/thesoufancenter/unprecedented-unrest-erupts-in-kazakhstan?e=c4a0dc064a
[3] องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization-CSTO) พันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาล ก่อตั้งเมื่อ 15 พฤษภาคม 1992 ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถานและ อุซเบกิสถาน
[4] Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีข้อบัญญัติทางด้านการควบคุมอาวุธ การประชาสัมพันธ์สิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อและการส่งเสริมการเลือกตั้ง มีลูกจ้างประมาณ 3,460 คน ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายดำเนินงาน แต่ยังมีกองเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย องค์การจัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งการประชุมด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปปี 1975 ที่เฮลซิงกิ ฟินแลนด์
[5] ตามข้อมูลที่ตีพิมพ์ในสื่อ Karimov Kazhimkanovich Masimov เคยทำงานให้ KGB ลาออกมหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาปีที่สี่และเริ่มรับใช้กองทัพ แต่หนึ่งในเพื่อนนักศึกษาของมัสซิมอฟปฏิเสธข้อมูลนี้ในภายหลัง ในปี 1985 Karim Kazhimkanovich เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Lumumba ในคณะเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย วิชาเอกภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ ต่อมามหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนชื่อเป็น RUDN และมัสซิมอฟสำเร็จการศึกษาในปี 1988
Leave a Comment