รัสเซียคิดจะทำอะไรกับยูเครน: นโยบายประหยัดต้นทุน (ตอนที่ 1)
ที่มาภาพ: https://abcnews.go.com/Politics/us-accuses-russia-fabricating-pretext-invade-ukraine/story?id=82267027
ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ (ศป.ข.) เปรียบเสมือน สุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog) มีหน้าที่ “เห่า” หรือแจ้งเตือนผู้ใช้ข่าว แต่ไม่ใช่เห็นอะไรก็เห่า ใบไม้ไหวก็เห่า นานไป “ความน่าไว้วางใจ (credibility)” จะลดลง
ศิระชัย โชติรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือ “พี่โต”
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย - ยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทวีความน่ากังวล เนื่องจากรัสเซียเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าใกล้บริเวณชายแดนยูเครน ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า รัสเซียอาจทำสงคราม (รุกรานยูเครน) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยยอมรับความเสี่ยงจาก “ความเสียหายทางเศรษฐกิจ”[1] แม้สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารัสเซียได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเมืองและยุทธศาสตร์ไปแล้วหรือไม่ (ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯแถลงเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022 โดยอ้างข่าวกรองสหรัฐฯยืนยันว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียตัดสินใจที่จะรุกรานยูเครนภายในสัปดาห์หรือไม่กี่วันข้างหน้า)[2]
สมมติว่ารัสเซียเปิดฉากการรบจริง ปัญหามิใช่อยู่ที่การ “ประมาณการข่าวกรอง” เพราะได้มีการตัดสินใจแล้ว แต่อยู่ที่ว่าได้มีการตัดสินใจไปแล้วหรือไม่ หากมีเรื่องที่ตัดสินใจมีว่าอย่างไร ระบบข่าวกรองมีความรับผิดชอบในการประมวลข่าวกรองว่าได้มีการตัดสินใจไปแล้วหรือไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง หากจำเป็นนักวิเคราะห์ควรแจ้งให้ผู้ใช้ข่าวกรองทราบว่า การประมาณการข่าวกรองนั้น “มีหลักฐานยืนยันว่าจริง” หรือเป็นการ “คาดคะเน” เอาเอง
รายงานข่าวกรองจากแหล่งเปิด (open-source intelligence) แสดงหลักฐานการสร้างเสริมกองกำลังขนาดใหญ่ของรัสเซีย (ห้วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2022) ประกอบด้วยกองพันปฏิบัติการทางยุทธวิธี (battalion tactical group) ประมาณ 100,000 นาย พร้อมกำลังป้องกันทางอากาศ ปืนใหญ่และการส่งกำลังบำรุง (logistics) รอบยูเครน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต เพื่อกดดันมิให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)[3]
นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจำนวนหนึ่งคาดการว่า รัสเซียพร้อมรับความเสียหายจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง KGB วางเดิมพันครั้งนี้ไว้สูงมาก แนวทางในการจัดการสถานการณ์ใด ๆ ของเขา อาทิ การคุกคามยูเครนหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ ทำให้ศัตรูต้องคาดเดาจุดมุ่งหมาย (การเดินหมากตาต่อไป) กลยุทธแบบนี้นอกจากทำให้ศัตรูต้องเป็นฝ่ายตั้งรับหรือมีความเป็นไปได้ที่จะทำผิดพลาดและถูกแสวงประโยชน์ในที่สุด[4]
หากย้อนกลับไปพิจารณาพฤติกรรมทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical behaviour) ของรัสเซียอย่างใกล้ชิดในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหลอกลวงประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครนไม่สอดคล้องกับวิธีใช้พลังอำนาจทางการทการ (hard power) ของรัสเซียในเกมภูมิศาสตร์การเมือง เช่น กรณีจอร์เจีย ซีเรีย ลิเบียและยูเครน (ในขณะนี้) แสดงให้เห็นภาพการดำเนินนโยบายประหยัดต้นทุน (cost-efficiency policy)[5]
ในแต่ละกรณีดังกล่าว รัฐบาลรัสเซียมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน (กำไร) อย่างรอบคอบ โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและจำกัดในการใช้พลังอำนาจทางทหาร (hard power) นโยบายประหยัดต้นทุนเป็นทางเลือกที่มีสติ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจของรัสเซียรู้ดีว่าพวกตนไม่มีทางที่จะควบคุมสงครามขนาดใหญ่ได้
ก่อนทำสงครามจอร์เจียในปี 2008 รัสเซียได้เข้าแทรกแซงและสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่เซาท์ออสเซเทียและอับคาเซีย เพื่อต่อต้านรัฐบาลจอร์เจีย ขณะนั้นกำลังทหารรัสเซียไม่ได้เผชิญคู่ต่อสู้ที่น่าเกรงขามและสามารถเอาชนะกองกำลังจอร์เจียในเซาท์ออสเซเทียอย่างง่ายดายภายในระยะเวลาไม่กี่วัน จากนั้นก็ได้เข้าไปยังจอร์เจียอย่างสมบูรณ์โดยยึดเมืองกอริแล้วยุติปฏิบัติการทางหาร เมื่อบรรลุเป้าหมายที่จำกัดดังกล่าวรัซเซียก็เปิดรับการไกล่เกลี่ยของยุโรป
กองทหารรัสเซียแบ่งแยกจอร์เจียออกเป็นสองส่วน โดยเข้าควบคุมท่อส่งน้ำมันและก๊าซจากอาเซอร์ไบจานไปยังตุรกีและทำให้เศรษฐกิจและระบบการเมืองเป็นอัมพาต กำไรที่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองบังคับให้รัฐบาลจอร์เจียยอมรับความเป็นอิสระของสาธารณรัฐปกครองตนเองเซาท์ออสเซเทีย เมื่อเห็นว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรุกคืบดังกล่าวอาจสูงเกินไป รัสเซียจึงยุติปฏิบัติการทางทหาร
การคิดคำนวณในลักษณะนี้เกิดขึ้นก่อนการแทรกแซงในซีเรีย เพื่อสนับสนุนระบอบประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในปี 2015 รัสเซียไม่ได้ใช้กองกำลังภาคพื้นดินจำนวนมาก แบบเดียวกับที่สหรัฐฯทำในอัฟกานิสถานและอิรัก แต่ใช้พลังอำนาจทางทหารอย่างจำกัด โดยส่งเครื่องบินรบ กองกำลังพิเศษ ทหารรับจ้าง ที่ปรึกษาทางทหารและเรือรบ เพื่อลดความเสี่ยง นักการทูตรัสเซียร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เช่น สหรัฐฯ อิสราเอลและตุรกีทุกระยะของสงคราม การสู้รบครั้งนี้ทำให้แน่ใจว่ากลุ่มกบฏไม่ได้รับการสนับสนุนอาวุธต่อต้านอากาศยาน โดยรับประกันการครองอากาศ (Air Supremacy) ของรัสเซียและซีเรีย
รัสเซียทิ้งระเบิดในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏ เพื่อป้องกันภัยทางอากาศให้แก่กองกำลังของรัฐบาลซีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เปลี่ยนจากการป้องกันเป็นรุกโจมตีภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซีเรียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังรัสเซียและอิหร่าน สามารถควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ ระยะเวลา 3 ปีต่อจากนั้นได้ผลักดันกลุ่มกบฏออกจากที่มั่นหลายแห่งไปกระจุกตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งนี้ รัสเซียบรรลุเป้าหมายในการรักษาระบอบของประธานาธิบดีอัล-อัสซาดด้วยต้นทุนต่ำ ทั้งในแง่การบาดเจ็บล้มตายและการเงินแถมยังได้กำไรทางการทูตในระดับนานาชาติจากมหาอำนาจตะวันตก
เมื่อได้รับเชิญให้แทรกแซงความขัดแย้งในลิเบีย รัสเซียให้คำมั่นสัญญาในการปฏิบัติเล็กน้อย แต่ประสบความสำเร็จอย่างมาก การมีส่วนร่วมของรัสเซียจำกัดแค่เพียงส่งทหารรับจ้างชาวรัสเซียและจัดหาอาวุธให้แก่ พลเอก Khalifa Haftar ซึ่งควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ แม้การบุกเมืองหลวงตริโปลีของเขาประสบความล้มเหลว แต่ไม่ถือเป็นความพ่ายแพ้ของรัสเซียซึ่งวางตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลลิเบียและ Haftar และสร้างความโดดเด่นในการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในภูมิภาค ตอนต่อไปจะเป็นการประเมินความคิดของอดีตเจ้าหน้าที่ KGB ที่กลายเป็น “ซาร์” ของรัสเซียสมัยใหม่
[1] Russia is willing to go to war and incur sanctions over Ukraine, analysts warn CNBC PUBLISHED MON, JAN 31 20226:05 AM ESTUPDATED MON, JAN 31 20226:46 PM EST Chloe Taylor@CHLOETAYLOR141 Available at: https://www.cnbc.com/2022/01/31/russia-willing-to-go-to-war-and-incur-sanctions-over-ukraine-analysts.html
[2] Live Updates: Biden Says Putin Has Decided to Invade Ukraine The New York Times Available at: https://www.nytimes.com/live/2022/02/18/world/russia-ukraine-biden-putin
[3] Russia’s military build-up enters a more dangerous phase The Economist FEB 11TH 2022 https://www.economist.com/interactive/2022/02/11/russias-military-build-up-enters-a-more-dangerous-phase?utm_campaign=a.the-economist-today&utm_medium=email.internal-newsletter.np&utm_source=salesforce-marketing-cloud&utm_term=2/13/2022&utm_id=1049063
[4] Why Vladimir Putin is taking his big gamble By Con Coughlin, DEFENCE EDITOR The Telegraph 13 February 2022 Available at: https://www.telegraph.co.uk/news/2022/02/13/vladimir-putin-taking-big-gamble/
[5] No, Russia will not invade Ukraine By Harun Yilmaz Aljazeera Published On 9 Feb 20229 Feb 2022 https://www.aljazeera.com/opinions/2022/2/9/no-russia-will-not-invade-ukraine
Leave a Comment