ข้อมูลบิดเบือน: บทบาทสำคัญในวิกฤติยูเครน
CNN reporter identifies strange moment in new Putin speech ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/videos/world/2022/03/03/putin-speech-ukraine-invasion-moment-robertson-ip-vpx.cnn
ผมรักษาความเป็นมืออาชีพ (professional) โดยไม่เฉียดใกล้และรังเกียจทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุนต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ก่อนที่ “วิกฤตยูเครน” จะเริ่มขึ้น รัสเซียให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้ข้อมูลที่ผิด (misinformation) ข้อมูลบิดเบือน (dis-information) และข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (malinformation) หรือ MDM ในการสร้างอิทธิพลและจัดการความคิดเห็นของประชาชนทั้งภายในและต่างประเทศ บัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่เชื่อมโยงถึงรัสเซียตั้งประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับการเป็นสมาชิก NATO การจัดฉาก (false flag events)[1] “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)” ในภูมิภาค Donbas รวมทั้งกระทู้ (theme) ที่คล้ายคลึงกัน
รัสเซียใช้ BOTS[2] และบัญชีหุ่นเชิด (sock puppet accounts)[3] แพร่กระจายเรื่องเล่าและสร้างกระแสในโลกออนไลน์โดยเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ตะวันตกควรเตรียมพร้อมรับมือคลื่นลูกใหม่ของ MDM ในอีกไม่กี่สัปดาห์และหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิก NATO ที่เตรียมออกกฎหมายคว่ำบาตรรัสเซีย[4]
แนวทางการทำสงครามของรัสเซียรวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ในช่วง “ระยะที่ 0 (phase 0)” ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “การปฎิบัติการสนับสนุน (shaping operation)” เพื่อสร้างความสับสนและไม่ลงรอยในหมู่ปรปักษ์ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ โฆษณาชวนเชื่อและสงครามสารสนเทศ ขณะที่รัสเซียเตรียมการปฏิบัติการทางทหารและดำเนินการเรื่องอื่น ๆ รวมทั้ง “การจัดฉาก” หลายครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลงานระดับมือสมัครเล่น
ความพยายามดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับกลุ่มเป้าหมายของรัสเซีย แต่ไม่มีอิทธิพลต่อนักสืบสวนข่าวกรองจากแหล่งเปิด (open-source intelligence) ของตะวันตก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ในทางตรงข้ามกลับทำให้เกิดความกลัวและกังวลในหมู่พลเมืองรัสเซีย ซึ่งเห็นว่าเพื่อนร่วมชาติของตนถูกปิดล้อมโดยกองกำลังติดอาวุธของยูเครน
รัสเซียกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่มพร้อมกัน การเผยแพร่วิดีโอการประชุมผู้นำด้านความมั่นคงแห่งชาติแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะโน้มน้าวประชาชนชาวรัสเซีย เพราะวิดิโอดังกล่าวมีภาพประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กำลังข่มขู่ Sergei Naryshkin หัวหน้าหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ
“วิกฤติยูเครน” ครั้งนี้ สมาชิกนาโตมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากกว่าที่ประธานาธิบดีปูตินคาดไว้และคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่า การเคลื่อนกองกำลังจำนวนมากประชิดชายแดนยูเครนเป็นการคิดคำนวณที่ผิดพลาดของผู้นำรัสเซีย จึงต้องเปิดเผยวิดีโอที่เขียนบทไว้อย่างดีเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งของผู้นำ
สื่อสหรัฐฯพยายามกล่าวหาว่ารัสเซียจัดการความคิดเห็นของสาธารณชน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของรัสเซียเสื่อมเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่าเรื่องการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในภูมิภาค Donbas ถูกใช้เป็นเหตุผลในการรุกรานเมืองโดเนตสค์และลูฮานสค์เช่นเดียวกับการที่ประธานาธิบดีปูตินรับรองเอกราชของทั้งสองเมืองดังกล่าว
ประธานาธิบดีปูตินสวมบทบาทเป็นผู้พิทักษ์หลักความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาคริสต์ (นิกายดั้งเดิม)ของรัสเซียรวมทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ในทางกลับกันเรื่องเล่าจำนวนมากถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าต่อโดยสื่อที่มีชื่อเสียงและบุคคลสำคัญทางการเมืองของตะวันตก ทั้งนี้ บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างสูงในสหรัฐฯ ยุโรป และที่อื่น ๆ ได้นำข้อมูลบิดเบือนและเรื่องเล่าของรัสเซียไปขยายต่อให้แก่ผู้ติดตามทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
การดำเนินการแบบคลุมเครือ (สีเทา ๆ) ของรัสเซียใช้ต้นทุนเพียงเพียงเล็กน้อย แต่ได้ประโยชน์อย่างมากและเป็นส่วนเสริมของกลยุทธ์การทำสงครามพันทาง (hybrid warfare strategy) ซึ่งอาศัยบอทและบัญชีหุ่นเชิดช่วยเพิ่มการเข้าถึงและการแพร่กระจายกระทู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากพร้อมกัน
เรื่องเล่าทางศาสนาและวัฒนธรรมหลายเรื่องในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีปูตินในสัปดาห์นี้ ถูกนำไปขยายต่อโดยกลุ่มต่าง ๆ เช่น Russian Imperial Movement (RIM) ซึ่งอาจทำให้พวกหัวรุนแรงขวาจัดใกล้ชิดกับองค์ประกอบภายในรัฐบาลรัสเซียมากขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักข่าว Associated Press เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯกล่าวหาว่าเว็บไซต์ข่าวการเงินอนุรักษ์นิยม Zero Hedge ส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อและแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนของรัสเซีย นอกจากนั้นยังระบุชื่อสื่ออื่น ๆ อีกหลายแห่งที่รัสเซียสร้างขึ้นและมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับหน่วยข่าวกรองรัสเซียเพื่อให้อับอายเช่นกัน
ประเทศตะวันตกและยุโรป ควรเตรียมพร้อมสำหรับคลื่นลูกใหม่ของข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนและแฝงเจตนาร้ายในช่วงไม่กี่สัปดาห์และเดือนที่จะมาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ธนาคารรัสเซียหลายแห่งตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและอังกฤษ
นายกรัฐมนตรี Olaf Scholz ของเยอรมนีประกาศระงับโครงการท่อส่งน้ำมัน Nord Stream 2 ปัจจุบันรัฐมนตรี ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ทหารตระหนักดีถึงขีดความสามารถด้าน MDM ซึ่งมีมากกว่าในปี 2014 ที่รัสเซียบุกและผนวกไครเมีย
นับเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศต่าง ๆ คือ การเพาะความคิดให้พลเมืองของตนมีภูมิคุ้มกันปลอดพ้นจากความเชี่ยวกรากของความเท็จ การโฆษณาชวนเชื่อและข่าวสารที่ทำให้เข้าใจผิด (misleading) หรือปลอมแปลง ตัดต่อ (manipulate)
[1] การสร้างสถานการณ์เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป้าหมาย (ศัตรู) เป็นผู้ลงมือกระทำเหตุการณ์นั้น เช่น ข่าวสารในรัสเซียระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียถูกฆาตกรรมนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ถูกลอบสังหารโดยผู้ได้รับคำสั่งจากเบื้องบน เพื่อเบี่ยงเบนเป้าประสงค์ที่แท้จริงของฝ่ายรัฐบาล ดู https://www.thaicatholicsingles.com/index.php?topic=1083.0;wap2
[2] โปรแกรมอัตโนมัติสำหรับทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งย่อมาจาก robot แปลว่าหุ่นยนต์ บอตที่ถูกใช้ในการเก็บข้อมูลจากเว็บเพจเรียกว่า “เว็บครอว์เลอร์” (web crawler) หรือ “สไปเดอร์” (spider) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลของเว็บนั้นมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำดัชนีประกอบการทำงานเสิร์ชเอ็นจิ้นอีกทอดหนึ่ง อ้างอิงจากเว็บไซต์ MARKETINGOOPS “Bot” ปฏิวัติโปรแกรมแช็ท สิ่งใหม่ที่น่าติดตาม เข้าถึงได้ที่ https://www.marketingoops.com/news/biz-news/bot-is/
[3] อัตลักษณ์ออนไลน์ที่ใช้เพื่อหลอกหลวงผู้อื่น คำว่า “หุ่นเชิด” มีที่มาจากการเคลื่อนไหวตุ๊กตาหุ่นเชิดด้วยมือ เดิมใช้อ้างถึงอัตลักษณ์ปลอมของบุคคลในสังคมอินเตอร์เน็ตเพื่อกล่าวถึงหรือโต้ตอบกับตัวเอง ประหนึ่งว่าหุ่นเชิดคือคนอีกคนหนึ่ง ปัจจุบัน คำว่าหุ่นเชิดรวมถึงการใช้อัตลักษณ์ที่ไม่ถูกต้องเพื่อสนับสนุน ปกป้องหรือชื่นชมบุคคลที่สามหรือองค์กรอื่นใดหรือการใช้หุ่นเชิดเพื่อหลบเลี่ยงการถูกระงับการใช้งานหรือการถูกแบน ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการใช้นามแฝงและหุ่นเชิดคือ หุ่นเชิดถูกใช้ในทำนองว่าบุคคลนั้น ๆ เป็นบุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เชิดหุ่น ในสังคมออนไลน์หลายแห่งมีนโยบายบล็อกหุ่นเชิดเพื่อป้องกันความเสียหายด้วย เข้าถึงได้ที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/หุ่นเชิด_(อินเทอร์เน็ต)
[4] RUSSIAN DISINFORMATION FORMS KEY PART OF THE KREMLIN’S APPROACH TO CONFLICT WITH UKRAINE INTELBRIEF Wednesday, February 23, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/russian-disinformation-forms-key-part-of-the-kremlins-approach-to-conflict-with-ukraine?e=c4a0dc064a
Leave a Comment