ความมั่นคงด้านอาหารโลกยังคงวิกฤติ

 

ที่มาภาพ: https://www.foodnavigator.com/Article/2017/10/05/DuPont-Knowing-about-food-security-challenges-drives-our-innovation

าคาข้าวสาลีในตลาดโลกแตะระดับสูงสุดใหม่เมื่อกลางพฤษภาคม 2022 เนื่องจากอินเดียผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลกระงับการส่งออก ท่ามกลางภัยพิบัติจากคลื่นความร้อน นอกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวสาลีขาดแคลนและเป็นอันตรายต่อประชากรโลก ทั้งนี้ ความขัดแย้งและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลกเลวร้ายลง[1]

          ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนข้าวสาลีและราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2022 เนื่องจากรัสเซียบุกยูเครนซึ่งถือเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำโลก” และส่งออกข้าวสาลีมากกว่าร้อยละ 12 ของปริมาณส่งออกทั่วโลก การส่งออกข้าวสาลีมีแนวโน้มหยุดชงักลงตราบเท่าที่สงครามรัสเซีย–ยูเครนยืดเยื้อและสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก

          การยึดเมือง Mariupol ของรัสเซียจะทำให้การส่งออกธัญพืชจากชายฝั่งทางใต้ของยูเครนทวีความซับซ้อนทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่เป็นอันดับสาม แต่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับแปดและผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับห้า

เดวิด เอ็ม. บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลก (WFP) สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า “ความล้มเหลวในการเปิดท่าเรือในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการประกาศสงครามกับความมั่นคงด้านอาหารโลก ทำให้เกิดความอดอยาก สั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการอพยพของประชาชนจำนวนมาก” รายงาน WFP ระบุว่า ความขัดแย้งเป็นสาเหตหลักของวิกฤตความหิวโหยของประชาชน 139 ล้านคนใน 24 ประเทศและดินแดน

สหรัฐฯในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดประชุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022 โดยมีแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นประธานโดยเน้นย้ำถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เกิดจากความขัดแย้ง (conflict-driven food insecurity) และกล่าวถึงความกังวลของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามในยูเครนต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก

          ภัยคุกคามแหล่งอุปทานข้าวสาลีในขณะนี้มีแนวโน้มยืดเยื้อและเลวร้ายลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เร่งตัวขึ้น อินเดียผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองประกาศเมื่อ 16 พฤษภาคม 2022 ว่าได้ระงับการส่งออกพืชผลที่สำคัญทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติคลื่นความร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสที่คุกคามปศุสัตว์และการดำรงชีวิตของประชากร 1,400 ล้านคน

 ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่างวิพากษ์วิจารณ์ประกาศดังกล่าวเพราะกังวลว่าจะทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น หลัง จากนั้นราคาข้าวสาลีแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ตันละ 453 ดอลลาร์ ประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินมาตรการแบบเดียวกันคือ อินโดนีเซียหยุดส่งออกน้ำมันปาล์ม ขณะที่เซอร์เบียและคาซัคสถานกำหนดโควตาส่งออกเมล็ดพืช Cem Ozdemir รัฐมนตรีกระทรวงอาหารและเกษตรเยอรมนีเตือนว่า “หากทุกประเทศจำกัดการส่งออกหรือปิดตลาด จะทำให้วิกฤตเลวร้ายลง”

          ประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวสาลีมากที่สุดมีลักษณะแตกต่างกัน จีนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ที่มีส่วนต่างระหว่างการผลิตและส่งออกมากที่สุด แต่ไม่ได้อยู่ใน 15 อันดับแรกของผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุด รัสเซีย สหรัฐฯและออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สามอันดับแรกกำลังเผชิญความท้าทายที่ร้ายแรง

ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯเป็นพื้นที่ผลิตข้าวสาลีอันดับต้น ๆ ของประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ครึ่งหนึ่งของรัฐแคนซัสผลิตข้าวสาลีเป็นอันดับต้น ๆ เผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรง ขณะที่รัฐเท็กซัสและโอคลาโฮมาประสบภาวะเลวร้ายยิ่งกว่า โดยมีฝนตกเล็กน้อยในพื้นที่เหล่านี้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา หลังการปลูกข้าวสาลีฤดูหนาวและเกษตรกรกังวลว่าจะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาการเพาะปลูกแม้จะได้ราคาสูง

ออสเตรเลียก็ประสบภาวะแห้งแล้งเช่นกันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นสลับกับน้ำท่วมฉับพลัน จีนผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวลดลงอย่างมากหลังจากฝนตกหนักผิดปกติ การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวสาลีของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ลดลงอย่างมากไม่สามารถพลิกกลับได้อย่างรวดเร็วด้วย “การเพิ่มอุปทาน” แบบเดียวกับการผลิตน้ำมัน

          ความมั่นคงด้านอาหารเป็นความท้าทาย “ความมั่นคงแห่งชาติ” ของทุกประเทศ ตะวันออกกลางเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลี ราคาที่สูงขึ้นจะบีบคั้นเศรษฐกิจและสังคมที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ความแห้งแล้งในตะวันออกกลางและส่วนใหญ่ของแอฟริกากำลังทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภค

สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากจะเลวร้ายลง โดยอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นขณะที่อุปทานข้าวสาลีและน้ำลดลง นำไปสู่ความทุกข์ยากและความขัดแย้ง ตามมาด้วยการขาดแคลนข้าวสาลี    ทั่วโลกอย่างกระทันหันและยาวนานส่งผลกระทบต่อประชากรที่เปราะบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) แจ้งเตือนถึงวิกฤตอาหารทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรง ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อปลายพฤษภาคม 2022 สหรัฐฯได้เสนอ Roadmap for Global Food Security Call to Action เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อวิกฤตการณ์อาหารด้วย   การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับองค์กรด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ

สหรัฐฯเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เปิดตลาดอาหารและสินค้าเกษตร เพิ่มปริมาณการผลิตและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพิ่มการลงทุนในนวัตกรรมการเกษตรที่ยืดหยุ่นตามสภาพอากาศและติดตามตลาดที่มีผลกระทบต่อระบบอาหารอย่างใกล้ชิด จนถึงขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจาก 36 ประเทศ



[1] THE FOOD INSECURITY CRISIS IS NOT GOING AWAY INTELBRIEF Friday, May 20, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/the-food-insecurity-crisis-is-not-going-away?e=c4a0dc064a

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.