ดูออกว่า G7 มีแผนต่อต้าน BRI
ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/thai/international-61953886
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7)[1] ที่เยอรมนี เมื่อปลายมิถุนายน 2022 ได้เปิดตัวโครงการหุ้นส่วนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนระดับโลก (Partnership for Global Infrastructure and Investment - PGII) อย่างเป็นทางการเพื่อแข่งขันกับโครงการความริเริ่มแถบและทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ของจีน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ขาดความยั่งยืน สร้างกับดักหนี้ บ่อนทำลายสิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตย ขณะที่ PGII เป็นการพัฒนาร่วมตามความต้องการของประเทศผู้รับและไม่ถูก G7 บงการ[2]
โครงการ PGII (เปิดตัวครั้งแรกในการประชุมสุดยอด G7 ที่อังกฤษเมื่อมิถุนายน 2021) มีเป้าหมายระดมทุน 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนและเอกสารข้อเท็จจริง (fact sheet) ทำเนียบขาวสหรัฐไม่ได้ระบุชื่อจีนอย่างชัดเจน แต่เป็นที่เข้าใจว่า PGII มีเป้าหมายเป็นทางเลือกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง) ซึ่งรู้จักกันในชื่อ BRI อันเป็นเอกลักษณ์นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
การวางตัวเป็นทางเลือกและแข่งขันกับ BRI ยังคงเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประสิทธิภาพ กล่าวคือ การพัฒนาโครงการภายใต้ PGII จะต้องหารือกับประเทศผู้รับอย่างเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความต้องการของประเทศเหล่านั้นจริง มิใช่ถูก G7 บงการ นอกจากนี้ การทูตสาธารณะจะเป็นส่วนสำคัญของ PGII ในการตอบโต้เรื่องเล่าของจีนที่ทำลายระบอบเสรีประชาธิปไตยในเวทีโลก
นับตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013 โครงการ BRI ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเทศผู้รับบางประเทศว่าเป็นโครงการที่ขาดความยั่งยืน สร้างกับดักหนี้รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตย ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ย้ำว่าโครงการ BRI เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจเท่านั้น
ประเทศตะวันตกแสดงความกังวลเกี่ยวกับเจตนาที่แท้จริงของจีน และผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเศรษฐกิจและรุกล้ำทางภูมิยุทธศาสตร์ (geostrategic) ของจีนในเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและบางส่วนของยุโรป แม้ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศและอธิปไตยถูกละเมิด โดยทำสัญญาให้จีนเช่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ท่าเรือเป็นระยะเวลา 100 ปี เพื่อขยายสินเชื่อ วิกฤตหนี้ของประเทศผู้รับ BRI เลวร้ายลงตั้งแต่ปี 2020 เห็นได้จากหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา ลาวและแซมเบีย
PGII ได้รับการขนานนามว่าเป็นโครงการทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ “เห็นประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นพันธมิตรกับประชาธิปไตย” ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์เรื่องขนาดและความล่าช้า ช่วงแรก PGII ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ (solar farm) มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแองโกลาและวางสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้น้ำระยะทางยาว 1,000 ไมล์เชื่อมต่อสิงคโปร์กับฝรั่งเศสผ่านอียิปต์และจงอยแอฟริกา
โครงการวางสายเคเบิลใต้น้ำสะท้อนว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ควรมุ่งเน้นการสร้างถนน ท่าเรือ และทางรถไฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเชื่อมต่อ อันที่จริง “เส้นทางสายไหมดิจิทัล”[3] ของจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ที่ส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและส่งออกเทคโนโลยีปรากฎใหม่เป็นสาเหตุความกังวลของประเทศประชาธิปไตย เทคโนโลยีสอดส่อง (surveillance technology) ที่จีนส่งออกอาจช่วยประเทศเผด็จการนำไปปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและทำลายภาคประชาสังคม
ความท้าทายของ PGII ประการแรก สถานการณ์ศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองในปีที่ผ่านมา รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้นเนื่องมาจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้การดำเนินโครงการภายใต้ PGII มีต้นทุนสูงขึ้น ประการต่อมา ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ว่ายังมีอุปสรรคนานัปการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการลงทุนโครงการ PGII ในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งความเสี่ยงด้านอธิปไตยและการเงิน
ประการสุดท้าย แม้ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่าสหรัฐฯจะระดมทุนจำนวน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ งบประมาณจากรัฐบาลกลางและการลงทุนภาคเอกชน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าโครงการใหม่หรือโครงการที่มีอยู่แล้วจะถูกรวมไว้ภายใต้ PGII
แม่ไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ก็อาจก่อให้เกิดคำถามว่าเหตุใด PGII จึงแตกต่างจากโครงการที่นำโดยสหรัฐฯซึ่งวางแผนไว้แล้ว หลักการสำคัญของโครงการภายใต้ PGII จะต้องหารือกับประเทศผู้รับเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอ ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศ G7 กำหนดหรือเชื่อว่าเป็นความต้องการของผู้รับ นอกจากนี้ การทูตสาธารณะจะเป็นส่วนสำคัญของ PGII เพื่อตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อและการเล่าเรื่อง (บิดเบือน) ของจีนเพื่อใส่ร้ายป้ายสีระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมในเวทีโลก
[1] G7 (Group of Seven) ประกอบไปด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี และแคนาดา
[2] G7 COUNTRIES HAVE A PLAN TO COUNTER CHINA’S BELT AND ROAD INITIATIVE (BRI) INTELBRIEF Tuesday, July 5, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/g7-countries-have-a-plan-to-counter-chinas-belt-and-road-initiative-bri?e=c4a0dc064a
[3] China’s Digital Silk Road: Strategic Technological Competition and Exporting Political Illiberalism Challenges for the US PACIFIC FORUM ISSUES & INSIGHTS VOL.19, WP8 | JULY 2019 WORKING PAPER Available at: https://pacforum.org/wp-content/uploads/2019/08/issuesinsights_Vol19-WP8FINAL.pdf
Leave a Comment