เบื้องหลังการถอนชื่อกลุ่มก่อการร้ายออกจาก FTO ของสหรัฐฯ
ที่มาภาพ: https://www.state.gov/foreign-terrorist-organizations/
เมื่อพฤษภาคม 2022 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สหรัฐฯได้ถอนชื่อกลุ่มก่อการร้าย 5 กลุ่ม (ที่สิ้นสภาพ) ออกจากบัญชีรายชื่อองค์กรก่อการร้ายต่างประเทศ (Foreign Terrorist Organization - FTO) ได้แก่ โอมชินริเกียว (AUM), กลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์ (ETA), กลุ่มกัช (Kahane Chai/Kach), อัลญะมะอะหฺ อัลอิสลามียะหฺ (IG) และสภาที่ปรึกษามุจาฮิดีนในเยรูซาเล็ม (Mujahidin Shura Council in the Environs of Jerusalem - MSC)
การตัดสินใจลบชื่อกลุ่มก่อการร้ายออกจาก FTO อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้สังหารบุคคลเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามเสถียรภาพของประเทศและภูมิภาค การนำกลุ่มที่สิ้นสภาพออกจาก FTO มีความสำคัญต่อการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการก่อการร้าย[1]
พร้อมกันนั้น กต.สหรัฐฯได้ลบชื่อผู้เสียชีวิต 6 คนซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้ายระดับโลก (Specially Designated Global Terrorists - SDGT) ตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 13224 เพื่อลดความสนใจของสาธารณชนกต. สหรัฐฯหลีกเลี่ยงการแจ้งข่าวผ่านสื่อสังคม แต่เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดและเหตุผลเบื้องหลังการเพิกถอนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งยังคงอยู่ในบัญชี SDGT ภายใต้คว่ำบาตรที่เข้มงวดน้อยกว่า
นับตั้งแต่จัดทำ FTO ในปี 1997 กต.สหรัฐฯได้เพิกถอนกลุ่มก่อการร้ายเพียง 15 กลุ่ม การตัดสินใจถอนชื่อครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 25 ของรายชื่อที่ถูกถอดออกจาก FTO ทั้งนี้ ในระยะเวลาไม่ถึงสองปี รัฐบาล Biden ได้ลบชื่อกลุ่มก่อการร้าย 7 กลุ่มออกจาก FTO (เท่ากับจำนวนที่ประธานาธิบดีโอบามาดำเนินการในช่วง 8 ปี) ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีไบเดนถอนชื่อกองกำลังปฏิวัติโคลอมเบีย (FARC) และอันซารัลเลาะห์หรือขบวนการฮูซี
พฤติการณ์กลุ่มก่อการร้าย 5 กลุ่มที่ถูกถอนชื่อล่าสุด AUM ก่อเหตุโจมตีด้วยแก๊สซารินบนรถไฟใต้ดินในโตเกียวปี 1995 ETA กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแค้วนบาสก์ของสเปน ก่อตั้งในปี 1959 ปฏิบัติการก่อการร้ายในยุโรปอย่างยาวนานที่สุด ตัดสินใจยุบเลิกกลุ่มโดยประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรในปี 2018 IG ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รับผิดชอบการก่อการร้ายหลายครั้งในอียิปต์ นำโดย Omar Abdel-Rahman (ชีคตาบอด) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตี World Trade Center นิวยอร์กในปี 1993 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 คนบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน
Kahane Chai กลุ่มหัวรุนแรงชาวยิวฝ่ายขวากลุ่มเดียวที่อยู่ในรายชื่อ FTO โดยแตกสาขาออกมาเป็นกลุ่ม Kach เพื่อต่อต้านชาวอาหรับปาเลสไตน์เป็นเวลาหลายปี สุดท้าย MSC ถูกเพิ่มชื่อใน FTO เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นที่รู้จักน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มที่ถูกเพิกถอน ในการแถลงข่าวของ กต.สหรัฐฯในปี 2014 ระบุว่า MSC โจมตีอิสราเอลด้วยการยิงจรวดจากฉนวนกาซา
การตัดสินใจลบกลุ่มเหล่านี้ออกจาก FTO ไม่ควรตีความว่าเป็นสัญญาณความอ่อนแอในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะมีความเสี่ยงที่จะสร้างความแปลกแยกต่อประเทศและประชาชนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เพื่อลดผลเสียทางการฑูต กต.สหรัฐฯตั้งใจจะลบชื่อกลุ่มก่อการร้ายและบุคคลที่เสียชีวิตในคราวเดียวกันจึงให้เหตุผลว่าเป็นการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
ในการแถลงข่าวของ กต.สหรัฐฯอธิบายว่า “การดำเนินการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายในการทบทวนและเพิกถอนรายชื่อใน FTO ตามความเป็นจริง” ยิ่งกว่านั้น กต.สหรัฐฯได้ชี้แจงว่าการเพิกถอนรายชื่อดังกล่าวสะท้อน “ความสำเร็จของอียิปต์ อิสราเอล ญี่ปุ่นและสเปนในการลดภัยคุกคามของกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้”
สิ่งสำคัญพอ ๆกับความสำเร็จในการต่อต้านการก่อการร้ายที่ทำให้มีการลบชื่อจาก FTO คือการทำให้บัญชี FTO มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยการลบชื่อกลุ่มที่สิ้นสภาพไปแล้ว การคงรายชื่อกลุ่มที่สิ้นสภาพหรือเปลี่ยนแนวทางการดำเนิงานหันมาสนับสนุนการแก้ปัญหาทางการเมือง ถือเป็นการลงโทษโดยไม่จำเป็น ซึ่งบางคนอาจโต้แย้งว่าจะทำให้ได้ผลตรงข้ามกับวัตถุประสงค์
ในทางกลับกัน การลบชื่อกลุ่มก่อการร้ายออกจาก FTO เป็นประเด็นสำคัญในการคว่ำบาตร ซึ่งจะต้องแน่ใจว่าเครื่องมือ (ทางการเงิน) สำหรับการต่อต้านการก่อการร้ายถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงป้องกันเท่านั้น
[1] BEHIND THE SCENES OF THE U.S. GOVERNMENT’S RECENT FOREIGN TERRORIST ORGANIZATION DE-LISTINGS INTELBRIEF June 6, 2022 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/behind-the-scenes-of-the-us-governments-recent-foreign-terrorist-organization-de-listings?e=c4a0dc064a
Leave a Comment