2023: โลกการเงิน “สับสน” และเศรษฐกิจ “ไม่แน่นอน”
ที่มาภาพ: https://hbr.org/2022/09/visualizing-the-rise-of-global-economic-uncertainty?utm_medium=email&utm_source=newsletter_daily&utm_campaign=dailyalert_notactsubs&deliveryName=DM218824
บทเพลงลูกเดี่ยวหลายท่วงทำนอง (fugue)[1] บนบันไดเสียง B minor ซึ่งประพันธ์โดย Sebastien Bach คีตกวีเอกชาวเยอรมนีในปี 1720 ไม่เพียงประกอบด้วย 4 เสียง (voices) แต่ยังมีแนวบทเพลง (theme) ที่ใช้แถวโน้ตสิบสองตัวบนบันไดเสียงโครมาติก (Chromatic scale) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในสมัยนั้น
แนวบทเพลงที่รวมทุกโน้ตใน 1 ช่วงเสียง (octave) นั้นขาดการประสานเสียงโดยสิ้นเชิงจนทำให้นักวิจารณ์เพลงร่วมสมัยของบาคเมินเฉยด้วยความสับสน (confused) อย่างไรก็ดี แนวดนตรีที่ไม่สอดคล้องกับระบบลำดับชั้นวรรณยุกต์ (atonality) ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของดนตรีในอีกสองศตวรรษต่อมา[2]
ปัจจุบันเพลงฟิวก์ดังกล่าวยังคงส่งเสียงสะท้อนในโลกการเงินอันซับซ้อน (multiplicity) และตลาดตราสารหนี้ที่มีความผันผวน (volatility) รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้นและเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำสุดในรอบ 40 ปี โดยวงออเคสตราของตลาดการเงินได้บรรเลงดนตรีที่มีท่วงทำนองแตกต่างกัน 4 แบบ คือ
1) การเปิดรับความเสี่ยง (risk on regime) เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นและส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (credit spreads) ลดลง 2) การปิดรับความเสี่ยง (risk off regime) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงและส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น
3) การถอนสภาพคล่อง (QT regime)[3] อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล และ 4) การผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing)[4] โดยการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล
แม้เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ปี 2023 แต่เค้าลางของความเคลื่อนไหวที่ “สับสน” เริ่มปรากฏให้เห็นเช่น ประสิทธิผลของนโยบายการเงินและคลัง (เพื่อกดเงินเฟ้อ) การเปลี่นแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ผลกระทบจากราคาพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้น วิถีการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่ำลง ปัญหาหนี้สินค้างคา (debt overhang)[5] การมีรายได้ไม่พอใช้หนี้ (zombifcation) และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดความ “ไม่แน่นอน” และความ “ผันผวน” ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยขับเคลื่อนยุคแห่งความสับสน คือ ความไม่เข้าใจเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและการสิ้นสุดของยุคเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องและเงินเฟ้อต่ำ (Great Moderation) ขณะที่เอกสารวิจัยของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (The National Bureau of Economic Research - NBER)[6] เรื่องดัชนีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (The World Uncertainty Index)[7] บ่งชี้ว่าห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “ความไม่แน่นอน” ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การวัดระดับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายอย่างมาก คณะผู้วิจัยได้ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาเกือบ 25 ปี โดยใช้ข้อมูลรายงานเศรษฐกิจประจำเดือน (ความยาวประมาณ 30 หน้า) ของ Economist Intelligence Unit (EIU)[8] ซึ่งครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก โดยนับจำนวนความถี่ของคำว่า “ความไม่แน่นอน (และการผันแปรของคำ)” ในรายงานของแต่ละประเทศซึ่งมีแหล่งที่มาจากผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์โดยนำมาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบ
เพื่อให้ดัชนีสามารถเทียบเคียงความไม่แน่นอน นักวิจัยได้ปรับข้อมูลดิบในรายงาน โดยถ่วงน้ำหนักของ GDP แต่ละประเทศเพื่อสร้างมาตรวัดความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วง 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ตามมาด้วยวิกฤติหนี้ยุโรป
นโยบายทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในปี 2016 โดยแตะระดับสูงสุดในปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งลดลงในปี 2021 จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในหลายภูมิภาคของโลก อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน
การวิจัยข้อความในเอกสารมีข้อดีคือ เราสามารถแยกปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน โดยการวิเคราะห์คำที่ปรากฏควบคู่กับการระบุความไม่แน่นอนในชุดข้อมูล วิธีวิจัยแบบนี้พบว่าในมิถุนายน 2016 ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากผลการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของอังกฤษ ซึ่งผิดความคาดหมาย ตามมาด้วยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯในปี 2018 ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ทั่วโลกและ กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุด ในปี 2020 การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความไม่แน่นอนทั่วโลก ซึ่งลดระดับลงเมื่อไม่นานมานี้และถูกแทนที่ด้วยผลกระทบจากความไม่แน่นอนอันเกิดจากสงครามในยูเครนรวมทั้งปัญหาทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรรัสเซีย
คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าแรงสั่นสะเทือนของ “ความไม่แน่นอน” ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและสะท้อนความปกติใหม่ของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถูกขับเคลื่อนด้วยความแตกแยกทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศ แตกต่างจากความสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ผู้บริหารอาจคุ้นเคยมากกว่าจึงควรยอมรับสิ่งเหล่านี้และปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่
ในการจัดการ “ความไม่แน่นอน” ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-economics) และการเมืองซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจ ผู้บริหารต้องยอมรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยติดตามสถานการณ์โลกและปรับตัวพร้อมวางแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน (contingency plan) ดังนี้
ประการแรก ช่วงเวลาที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะสับสน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการตื่นตระหนกตกใจ สำหรับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อาจดำเนินวิถีทางการเมืองผ่านการมีส่วนร่วมและการวิ่งเต้น (lobbying) ควรลงทุนด้านบุคลากรและเครื่องมือติดตามประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองอย่างใกล้ชิดโดยมุ่งเน้นปัญหาในภูมิภาคที่ส่งผลต่อธุรกิจ
ประการที่สอง ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นมีคุณค่ามากขึ้น ดังนั้นควรใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อให้มีทางเลือกเปิดกว้าง การทำสัญญาเช่าระยะสั้นดีกว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การจ้างงานผู้รับเหมาดีกว่าพนักงานประจำและการเช่าดีกว่าการจัดซื้ออุปกรณ์ แนวทางนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวเมื่อเผชิญแรงกระแทกครั้งใหญ่
ประการสุดท้าย ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เช่น สงครามรัสเซีย - ยูเครน การตัดสินใจอย่างรวดเร็วมีคุณค่ามหาศาล บริษัทที่มีแผนฉุกเฉินสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นและลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดโดยไม่จำเป็นต้องคาดทำนายเหตุการณ์ในอนาคตอย่างสมบูรณ์ บริษัทอาจสร้างแบบจำลองฉากทัศน์ในอนาคต เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างมาก ความล้มเหลวของผู้ผลิตสินค้าหลักหรือต้นทุนในการทำธุรกิจในบางประเทศเพิ่มขึ้น
การจัดทำแผนฉุกเฉินก็เหมือนกับการจ่ายค่าประกันความเสี่ยง ซึ่งเราหวังว่าจะไม่ต้องใช้ หากจำเป็นแผนดังกล่าวอาจเป็นสิ่งล้ำค่า (invaluable) ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกส่งผลให้แผนฉุกเฉินมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
[1] หรือ “วิธีการ” ประพันธ์ดนตรีแบบหนึ่งที่เติบโตมาในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางและรุ่งเรืองที่สุดในยุคบาร็อค (baroque) ประมาณ ค.ศ.1600 - 1725 แต่หลังจากนั้นก็เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็วเมื่อโลกศิลปะเข้าสู่ยุคคลาสสิคคัล (classical) ดู Chitpong Classical music compositions and writings เข้าถึงได้ที่ https://chitpongmusic.blogspot.com/2017/04/inside-fugue-1-fugue.html
[2] 5-year Expected Returns: The Age of Confusion 21-09-2022 ROBECO 5-Year outlook Available at: https://www.robeco.com/en/insights/2022/09/5-year-expected-returns-the-age-of-confusion.html
[3] หรือ Quantitative Tightening คือ นโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ซื้อมาครบอายุ การใช้นโยบาย QT เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งและครั้งที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด คือ การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯระหว่างปี 2018 -2019
[4] นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศใช้รับมือปัญหาการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางซื้อ “สินทรัพย์ทางการเงิน” ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ฝากไว้กับธนาคารกลาง มักเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ชนิดต่าง ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทใหญ่ ๆ เป็นต้น เมื่อธนาคารกลางรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของธนาคารเอกชนจะทำให้สินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าวเปลี่ยนสภาพเป็น “เงินสด” ซึ่งหมายถึงธนาคารเอกชนจะมีเงินสดเตรียมไว้ปล่อยสินเชื่อให้นักธุรกิจได้ทันที ทำให้มาตรการ QE มีลักษณะเหมือนการ “อัดฉีด” หรือ “แจกเงินสด” นั่นเอง
[5] MegaThreats: Ten Dangerous Trends That Imperil Our Future, And How to Survive Them by Nouriel Roubini Hardcover – October 18, 2022
[6] หน่วยงานภาครัฐซึ่งติดตามดูภาวะเศรษฐกิจรวมถึงเป็นผู้ประกาศว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ โดยพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจแบบองค์รวม ไม่ได้ดูเฉพาะ GDP เพียงอย่างเดียว
[7] THE WORLD UNCERTAINTY INDEX By Hites Ahir Nicholas Bloom and Davide Furceri Working Paper 29763 (http://www.nber.org/papers/w29763) NATIONAL BUREAU OF ECONOMIC RESEARCH February 2022 เข้าถึงได้ที่https://www.nber.org/system/files/working_papers/w29763/w29763.pdf
[8] สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองผู้ผลิตนิตยสาร The Economist ของอังกฤษ ให้บริการพยากรณ์และคำปรึกษาผ่านการวิจัยและวิเคราะห์เช่น รายงานรายเดือนการคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศ 5 ปี รายงานการให้บริการความเสี่ยงของประเทศและรายงานอุตสาหกรรม บริการวิเคราะห์ประเทศอุตสาหกรรมและการบริหารจัดการทั่วโลก EIU มีสำนักงานหลายแห่งทั่วโลกรวมทั้งสำนักงาน 2 แห่งในจีนและ 1 แห่งในฮ่องกง
Leave a Comment