ยุคใหม่ของสงครามโปร่งใส (transparent warfare)

 

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/economy/2023/2/19/a-year-of-war-in-ukraine-has-left-developing-countries-picking-up-pieces

ช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น[1] สหรัฐฯและพันธมิตรนาโต[2] จับตาความเคลื่อนไหวและการวางกำลังทางทหารของรัสเซียโดยใช้วิธีการสอดแนมที่มีราคาแพงและแปลกใหม่ เช่น ดาวเทียมจารกรรม เครื่องบินตรวจการณ์ตลอดจนสายลับ/ตัวแทน (human agent) ซึ่งไม่มีใครสามารถรวบรวมได้

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ฝ่ายพลเรือนก็มีเครื่องมือหาข่าวมากขึ้นเช่นกัน โดยนักข่าว นักคิด (think-tankers) นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและมือสมัครเล่น ต่างก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองจากแหล่งเปิดหรือ OSINT[3] อันหลากหลายและขยายตัวอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปของตนเองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกำลังทหารทั่วโลก[4]

รูปภาพและข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้จากดาวเทียมเชิงพาณิชย์ วิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ติดตาม (tracking) การเดินเรือและอากาศยานที่เปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งบางครั้งถูกซ่อนไว้ เปิดเผยให้เห็นความเป็นไปในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น เมือง Rechitsa เบลารุสโดยมีรายละเอีดชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนภายในเวลาเกือบจะทันท่วงที (nearly in real time)

ปัจจุบันผู้ให้บริการข้อมูลดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อกลางมกราคม - ต้นกุมภาพันธ์ 2022 นิตยสาร The Economist ซึ่งอาศัยบริการข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของบริษัท Maxar และ Planet ที่ตั้งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ตรวจพบความเคลื่อนไหวทางการทหารของรัสเซีย (อ้างว่าเป็นการซ้อมรบ) อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งจะครบรอบ 1 ปี ใน 24 กุมภาพันธ์ 2023[5]

เครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมากในวิกฤตครั้งนี้คือ การผสมผสานภาพถ่ายดาวเทียมที่ทันเวลา (timely) และแม่นยำ (accurate) กับข้อมูลบนสื่อออนไลน์ที่หลั่งไหลออกมาจากรัสเซียหรือ OSINT ที่เปิดเผยให้เห็นการสร้างเสริมกำลังทหารรัสเซียในบริเวณพื้นที่ชายแดนยูเครน[6]

          ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เมือง Rechitsa เบลารุสมิได้บ่งบอกว่า ยุทโธปกรณ์และยานพาหนะทางทหารหายไปไหน แต่เบาะแสอื่น ๆ จากพลขับชาวรัสเซียที่ใช้กล้องติดแผงหน้าปัด (dashboard-mounted cameras) บันทึกภาพรถถังและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เคลื่อนที่บนถนนและทางรถไฟซึ่งอัปโหลดบน TikTok แอปสัญชาติจีนสำหรับแชร์คลิปวิดีโอขนาดสั้น (ภาพรถถังที่แล่นผ่านพรมแดนรัสเซียถูกบันทึกพร้อมเสียงเพลงดังกระหึ่ม)

คลิปวิดีโอซึ่งอัปโหลดเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2022 แสดงให้เห็นขบวนรถหุ้มเกราะรวมทั้งระบบต่อต้านอากาศยาน Shilka ของรัสเซียเคลื่อนที่มุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้จากเมือง Mazyr ไปยัง Naroulia สองวันต่อมา นักวิเคราะห์ OSINT ใช้ชื่อ @danspiun ทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตว่า สัญลักษณ์บน Shilka แม้ดูไม่ชัดเจน แต่บ่งชี้ว่ารถถังคันคันดังกล่าวสังกัดกองพลรถถังที่ 5 ซึ่งถูกตรวจพบก่อนที่จะมาถึง Rechitsa

หากดูในแผนที่จะเห็นว่าเมือง Mazyr และ Naroulia ตั้งอยู่ทางใต้ใกล้ชายแดนยูเครน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หน่วยทหารบางส่วนที่ออกจาก Rechitsa ดูเหมือนจะไม่ได้กลับไปยังฐานที่ตั้งเดิม แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง “คุกคาม” สอดคล้องกับคำกล่าวของเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษที่ว่ากองกำลังรัสเซียเคลื่อนย้ายจาก “จุดเตรียมพล (holding area)” ไปยัง “พื้นที่เคลื่อนกำลังพลส่วนหน้า (front-footed deployed)”

นิตยสาร JANES รายงานเมื่อ กุมภาพันธ์ 2022 ว่า รัสเซียยังคงเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ในเบลารุสและตามแนวชายแดนยูเครนอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 14 วันที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า ความถี่ในการเคลื่อนกำลังพลเพิ่มขึ้นทุกวันจนถึงระดับสูงสุด นับตั้งแต่เริ่มสั่งสมกำลังในตุลาคม 2021 กองกำลังภาคพื้นดินของ Eastern Military District (EMD) ได้เริ่มส่งกำลังไปยังพื้นที่หลายแห่งในเบลารุส ส่วนใหญ่อยู่ตามชายแดนทางใต้ของประเทศที่ติดกับยูเครน[7]

ฐานทัพ Yelnya ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียกับเบลารุส 125 กม. เป็นที่ตั้งของกองพลปืนไรเฟิลที่ 144 เมื่อพฤศจิกายน 2021 กองทัพรัสเซียเริ่มเติมกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากกองกำลังผสมที่ 41 และอีกหลายกองพลในไซบีเรียที่ตั้งอยู่ห่างออกไปกว่า 3,000 กม. ภาพถ่ายดาวเทียมของฐานทัพ Yelnya ในช่วงปลายมกราคม 2022 แสดงให้เห็นหลังคาค่ายทหารซึ่งหิมะละลายและร่องรอยรองเท้าบู๊ตโดยรอบกลายเป็นโคลนเลน

          ท้องฟ้าบริเวณฐานทัพ Yelyna ในช่วงต้นปีมักจะมีเมฆปกคลุมเช่นเดียวกับยุโรปส่วนใหญ่ แต่เมฆหมอกและความมืดไม่เป็นปัญหาสำหรับดาวเทียมเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ (Synthetic Aperture Radar - SAR)[8] ซึ่งทำงานด้วยคลื่นวิทยุย่าน C-band (ความยาวคลื่น 5.6 ซม.) สามารถส่องทะลุผ่านเมฆ โดยปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

          ดาวเทียม Sentinel-1 (SAR) ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA) ถ่ายภาพพื้นที่บนภาคพื้นทวีปทุก ๆ วัน ได้ภาพความละเอียดต่ำกว่าภาพที่ถ่ายโดยดาวเทียม Maxar และ Planet แต่เห็นโครงสร้างอาคารที่มนุษย์สร้างขึ้นบางส่วนซึ่งสะท้อนคลื่นเรดาร์ได้ดีเป็นพิเศษ ภาพถ่ายโดย Sentinel-1 ตั้งแต่ 23 มกราคม 2022 - 11 กุมภาพันธ์ 2022 แสดงให้เห็นก้อนสีม่วงขมุกขมัว (สีของเรดาร์ซีดจาง) บ่งชี้ว่าฐานทัพเหลือแต่ความว่างเปล่า

แล้วยุทโธปกรณ์ของกองพลผสมที่ 41 หายไปไหนหรืออาจไปทางชายแดนยูเครน คลิปวิดิโอบน TikTok แสดงให้เห็นรถหุ้มเกราะที่สถานีเมือง Bryansk ห่างจากยูเครนประมาณ 35 กม. เมื่อตรวจสอบตัวเลขแปดหลักที่ติดอยู่บนรถไฟด้วยเว็บไซต์ติดตามการเดินรถไฟปรากฎว่าขบวนรถไฟดังกล่าวมีต้นทางมาจากพื้นที่ Yelnya ถึงตอนนี้คุณคงจะนึกออก

ในห้วงระยะเวลาไม่กี่วัน กองทัพรัสเซียได้เคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์อย่างเร่งรีบดูเหมือนเป็นการถอนกำลังตามที่กระทรวงกลาโหมกล่าวอ้างเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 อย่างไรก็ดี Michael Kofman ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ CNA หน่วยงานคลังสมองสหรัฐฯเห็นว่าเป็นกลลวงการเคลื่อนกำลังพล (deployment shell game) ด้วยการสับเปลี่ยนกำลังอย่างสับสนโดยไม่เสียภาพรวม (without altering the overall picture) กำลังทหารบางส่วนออกจากไครเมีย แต่ส่วนใหญ่เข้าประชิดชายแดน

          OSINT ที่ดีต้องค้นหา “ความนัย” อย่างต่อเนื่องและรู้ว่าควรจะมองหาจากที่ใด โดยใช้แนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า “tipping and cueing” กล่าวคือ เบาะแสที่รวบรวมได้จากเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดต่ำกว่าจะถูกนำมาชี้นำเซ็นเซอร์ที่คมชัดกว่าโดยแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรหรือหาเบาะแสจากภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดต่ำ ซึ่งมีอยู่มากมายและราคาถูกแล้วหาความนัยด้วยวิธีที่ชาญฉลาด

นักวิเคราะห์สังเกตพบว่า เรดาร์ทางทหารบางประเภทของดาวเทียม Sentinel-1 ทำให้เกิดรูปแบบการรบกวนที่มีลักษณะเฉพาะ Ollie Ballinger อาจารย์ประจำ University College London ได้สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Radar Interference Tracker ช่วยค้นหาสัญญาณรบกวน ในกันยายน 2022 เครื่องมือดังกล่าวตรวจพบสัญญาณรบกวนที่น่าจะมาจาก Pogonovo ฐานทัพสำคัญของรัสเซียใกล้ชายแดนยูเครน ซึ่งน่าจะเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศ

          ดาวเทียมอาจให้ข้อมูลจำนวนมากจากการถ่ายภาพในหนึ่งวัน แต่ข้อมูลที่มีความละเอียดสูงยังคงหายาก นักวิเคราะห์ข่าวกรองทราบถึงประโยชน์ของภาพถ่ายเหนือศีรษะซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นทุกรายละเอียด ภาพถ่ายจำนวนมากดูน่าหลงใหลและอาจทำให้ผู้ไม่มีประสบการณ์เข้าใจผิด

กองทัพสมัยใหม่ชื่นชมบทบาทของ OSINT ในสถานการณ์วิกฤตและใช้เป็นข้อได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น กองทัพอาจจงใจแสดงภาพขบวนรถถังที่มุ่งหน้าไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ โดยรู้ว่าคลิปวิดิโอที่เผยแพร่ตามมาบน TikTok จะถูกแยกส่วนโดยนักวิจัย สัญญาณบอกตำแหน่งที่เผยแพร่ออกอากาศจากเรืออาจถูกปลอมแปลงทำให้คลาดเคลื่อนจากตำแหน่งจริงหลายไมล์

นักวิเคราะห์ของ Rochan Consulting บริษัทวิเคราะห์ข่าวกรองจากแหล่งเปิดระบุว่า “ผู้คนมักจะคิดว่า OSINT นำเสนอภาพการสร้างเสริมกำลังทหารอย่างสมบูรณ์ แต่ที่จริงเราเห็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น การเห็นเพียงเศษเสี้ยวโดยไม่ต้องพึ่งพาคำพูดและความตั้งใจของรัฐบาลเป็นหนทางออกจากวิกฤติที่คาดไว้ สงครามในยุโรปครั้งนี้โปร่งใสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน



[1]  สงครามเย็น (Cold War) เริ่มต้นจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ ช่วงปลายปี ค.ศ. 1945 (2488) และดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1989 (2532) ซึ่งยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นปีที่สิ้นสุดของสงครามเย็น

[2] องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO) ก่อตั้งเมื่อ 4 เมษายน 2492 (ค.ศ. 1949) โดยสหรัฐฯและประเทศ ในยุโรปรวม 12 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์และโปรตุเกส ได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

[3] ข่าวสารที่รวบรวมจากแหล่งสาธารณะโดยมุ่งหมายตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านการข่าวกรอง แหล่งสาธารณะอาจเป็นแบบไม่ต้องเสียเงินหรือต้องเสียค่าสมาชิก (free and subscription-based) ทั้งแบบ online หรือ offline OSINT ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บนอินเตอร์เน็ต แม้บนเครือข่ายดังกล่าวมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาล สื่อมวลชน องค์กรสาธารณ คลังสมอง (think tank) มหาวิทยาลัย NGOs และองค์กรของเอกชนล้วนเป็นแหล่งที่มาของข่าวสารจากแหล่งข่าวเปิด (OSINF)

[4] A new era of transparent warfare beckons The Economist Briefing Feb 19th 2022 edition Available at: HTTPS://WWW.ECONOMIST.COM/BRIEFING/2022/02/19/A-NEW-ERA-OF-TRANSPARENT-WARFARE-BECKONS?UTM_CONTENT=ARTICLE-LINK-1&ETEAR=NL_TODAY_1&UTM_CAMPAIGN=A.THE-ECONOMIST-TODAY&UTM_MEDIUM=EMAIL.INTERNAL-NEWSLETTER.NP&UTM_SOURCE=SALESFORCE-MARKETING-CLOUD&UTM_TERM=2/18/2022&UTM_ID=1055519

[5] สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการเคลื่อนกำลังทหารของรัสเซียไปยังชายแดนเบลารุส - ยูเครนโดยนำเสนอภาพภ่ายดาวเทียมบริษัท Maxar ในโคโลราโด เมื่อ กุมภาพันธ์ 2022 ได้ถ่ายภาพค่ายพักทหารรัสเซียและยานพาหนะในเมืองเรชิตซา เบลารุส จอดเรียงเป็นระเบียบบนพื้นหิมะขาวโพลนอยู่ห่างจากชายแดนยูเครนไม่ถึง 50 กม. ต่อมาเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 ดาวเทียมอีกดวงถ่ายภาพพื้นที่บริเวณเดิมซึ่งหิมะและยานพาหนะหายไป

[6] Dashcam หรือกล้องแดชบอร์ดคือ กล้องวิดีโอดิจิตอลบันทึกการขับรถ (DVR) หรือบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ (EDR) เป็นกล้อง onboard ติดตั้งบนแดชบอร์ดหรือกระจกหน้ารถและหน้าต่างบางครั้งหลังรถหรืออื่น ๆ แผงหน้าปัดรถบางรุ่นมีกล้องสำหรับบันทึกภาพภายในรถแบบ 360 องศา ภายในกล้องโดยปกติจะอยู่ในรูปลูกบอลและสามารถส่งรูปภาพและวิดีโอโดยอัตโนมัติด้วยสัญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G ทั้งนี้ EDR และแดชแคมบางรุ่นสามารถบันทึกการเร่ง/ลดความเร็ว g-force ความเร็ว มุมบังคับเลี้ยว ข้อมูล GPS ฯลฯ

[7] Russia continues military build-up on Ukrainian border JANES 03 FEBRUARY 2022 Available at: https://www.janes.com/defence-news/news-detail/russia-continues-military-build-up-on-ukrainian-border-analysis

[8] รูปแบบหนึ่งของเรดาร์ที่ใช้ในการสร้างภาพสองมิติหรือสามมิติ เช่น ทิวทัศน์ โดยอาศัยการเคลื่อนที่ของเสาอากาศที่ติดตั้งบนเครื่องบินหรือยานอวกาศเหนือพื้นที่เป้าหมาย SAR มีต้นกำเนิดจากรูปแบบขั้นสูงของเรดาร์ตรวจอากาศ (SLAR)

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.