ความไม่สงบหางยาวชายแดนใต้กับการเลือกตั้ง 2023
ที่มาภาพ: https://www.feedough.com/what-is-long-tail-in-marketing-long-tail-theory-explained/
การทำความเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจใช้คำอธิบายจากมุมมองแบบกว้าง ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งดั้งเดิม (traditional factors) ปัจจัยทางศาสนา (religion) และขบวนการก่อความไม่สงบ (militant organisations)[1]
คำอธิบายแรก มุ่งเน้นเรื่องความขัดแย้งยืดเยื้อตั้งแต่ในอดีต ชาวมลายูมุสลิมรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสอง ประกอบกับความไม่เป็นระเบียบบริเวณชายแดนไทย - มาเลเซีย ซึ่งมีการก่ออาชญากรรมและการดิ้นรนของกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่อย่างยาวนาน
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่เน้นมุมมองด้านศาสนาให้ความสำคัญกับโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนปอเนาะหรือกระบวนการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic revival) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิรูป (ขบวนการดะวะฮ์/ธรรมจาริก)
บางคนมุ่งเน้นปัจจัยต่างประเทศ เช่น แนวคิดของขบวนการอัล-ไคดา และ Jemaah Islamiah (JI) หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 ซึ่งต่อมากลายเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวถึงบทบาทของผู้นิยมแนวทางซูฟีย์ (ลัทธินิยมความลี้ลับและเวทย์มนต์) และลัทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ (28 เมษายน 2004)
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยและนักวิเคราะห์อิสระบางคนเชื่อว่าแกนหลักของขบวนการก่อความไม่สงบ คือ กลุ่ม BRN-C ซึ่งดำเนินการแบบหน่วยอิสระ สมาชิกในแต่ละพื้นที่สามารถเลือกเป้าหมายและดำเนินงานทางการเมืองด้วยตัวเอง โครงสร้างดังกล่าวทำให้ขบวนการสามารถเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทหารและตำรวจพยายามทำลายเครือข่ายเหล่านี้[2]
บทความนี้มุ่งเน้นอธิบายความยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่สงบใน จชต. ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของไทยอย่างรุนแรง โดยอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับหางยาว (The Long Tail) ของ Chris Anderson[3] เสนอว่า “สินค้าขายดีร้อยละ 20 สามารถสร้างยอดขายได้ร้อยละ 80” หรือ “ยอดขายร้อยละ 80 มาจากลูกค้าจำนวนร้อยละ 20” โดยฐานสินค้าหรือลูกค้าร้อยละ 20 ถูกจัดให้เป็นลูกค้าชั้นดีที่บริษัทดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ส่วนจำนวนสินค้าหรือลูกค้าที่เหลือร้อยละ 80 ซึ่งเรียกว่า “หางยาว” ทำรายได้ให้แก่บริษัทรวมกันไม่ถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด
Chris Anderson ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดกำลังเคลื่อนย้ายจากที่มียอดขายสูง (Mass Market) ไปสู่ที่มีความต้องการเฉพาะ (Niche Market) แต่มียอดขายไม่มาก เนื่องจากศักยภาพของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เข้าถึงและรวบรวมความต้องการเฉพาะเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าด้วยกันจนทำให้เกิดกำไรขึ้นมาได้
ตัวอย่างเช่นร้านหนังสือในเว็บไซต์ของ amazon ที่สามารถแสดงรายชื่อหนังสือจำนวนมากไม่เพียงแค่หนังสือปกดัง อีกทั้งยังไม่ต้องคำนึงถึงการสต็อคสินค้า (เว็บจะสั่งหนังสือก็ต่อเมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาเท่านั้น) เมื่อ amazon จัดทำสถิติยอดขายหนังสือผ่านทางเว็บของตนปรากฏว่า
ยอดรวมของความต้องการเฉพาะสินค้าส่วนหางที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเติบโตขึ้นทุกวันจนมียอดจำหน่ายรวมทัดเทียมหรือบางครั้งก็ชนะยอดขายสินค้ายอดนิยมได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนเว็บของ amazon แสดงให้เห็นพลังความต้องการเฉพาะบนโลกออนไลน์ที่ทำให้ข้อจำกัดทางการค้าถูกทลายลงได้
ทฤษฎีหางยาวเปลี่ยนมุมมองการตลาดแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกลุ่มลูกค้าจำนวนไม่มากที่มีกำลังซื้อสูงมาให้ความสนใจลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อย แต่มีจำนวนมากกว่า กฏของหางยาวสามารถใช้หักล้างกฎของพาเรโต (กฎ 80/20)[4] คือ ยอดขายสินค้าและบริการของธุรกิจออนไลน์ ไม่ได้มาจากส่วนร้อยละ 20 ของสินค้าตามกฎของพาเรโต แต่สามารถนำเสนอได้ถึงร้อยละ 100
แม้สินค้าหางยาวเป็นที่ต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม แต่รวมกันแล้วสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่องค์กรได้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จใน e-Commerce ส่วนใหญ่มักขายสินค้าหรือบริการในส่วนหางยาว เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถหาซื้อได้ในช่องทางปกติ
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อเข้าปีที่ 19 (นับจากเหตุปล้นปืนทหารพัฒนาปี 2004) อาจอธิบายด้วยทฤษฎีหางยาว โดยอุปมาว่า “ผู้ก่อความไม่สงบร้อยละ 20 สามารถสร้างความเสียหายร้อยละ 80” หรือ “ความเสียหายร้อยละ 80 มาจากผู้ก่อความไม่สงบจำนวนร้อยละ 20”
การก่อเหตุกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในส่วนหางยาว (ร้อยละ 80) รวมกันอาจมีความเสียหายมากกว่าส่วนหัว (ร้อยละ 20) ซึ่งเป็นพวกนิยมใช้ความรุนแรง (hard-core) ทฤษฎีหางยาวไม่ได้เป็นกลยุทธ์การตลาดสำหรับองค์กรที่ทำธุรกิจ online เท่านั้น ธุรกิจร้านค้าแบบ offline ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน นอกเหนือจากหางยาวของ “สินค้า” หรือ “บริการ” ยังมีหางยาวของ “ลูกค้า” ด้วย
การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน 14 พฤษภาคม 2023 ที่นั่ง ส.ส. ใน จชต. (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) เพิ่มขึ้นเป็น 13 ที่นั่ง จากเดิมที่มี 11 ที่นั่งในการเลือกตั้ง 2019 ผู้สมัคร ส.ส. ใน 3 จชต. จำนวน 161 คน โดยมี 21 พรรคการเมืองที่ลงชิงชัย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกพรรคไหน” เมื่อกุมภาพันธ์ 2023 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพรรครวมไทยสร้างชาติมีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 19.82 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ ร้อยละ 17.55 และอันดับ 3 ร้อยละ 16.73 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ส่วน ส.ส. แบบแบ่งเขต โพลคน 3 จชต.เลือกพรรคประชาชาติเป็นอันดับหนึ่งตามด้วยเพื่อไทยและประชาธิปัตย์[5]
สำหรับเหตุผลของการเลือกตั้ง ผศ. อสมา นักวิชาการรัฐศาสตร์ มอ. ชี้ว่า นโยบายอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยเรื่อง "บ้านใหญ่" ยังมีความสำคัญมาก ซึ่งมีทุกพรรคการเมือง แต่บางพรรคอย่างประชาชาติมีมิติทางศาสนาเป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าผู้นำศาสนาทั้งสายเก่าและสายใหม่ก็เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์กับทางพรรค[6]
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง “หน้าใหม่” และ “รุ่นใหม่” จากพรรคการเมือง “น้องใหม่” ผศ. อสมา เห็นว่า "การเมืองของสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นการเมืองของสายสัมพันธ์ ระบบอุปถัมป์และบารมี เราอาจจะดูเหมือนเป็นการเมืองเก่า…...แต่หลังจากเก็บข้อมูลพบว่าชาวบ้านจะเลือกจากสายสัมพันธ์ที่เขารู้จัก ที่นี่นักการเมืองเก่า คนเก่าคนแก่ทางการเมืองก็อาจจะได้เปรียบทางการเมืองมากกว่า"
ช่วงเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 3 จชต.เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากรวมถึงการเมืองในพื้นที่ “อาเนาะรู” ซึ่งเป็นฐานเสียงของนักการเมืองรุ่นเก่าและบ้านเกิด (hometown) ของผู้เขียน อย่างไรก็ดี พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยจากสวนดุสิตโพลเปิดเผยข้อค้นพบสำคัญจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 400 เขตเลือกตั้งเมื่อเมษายน 2023 ว่า “พรรคตัวแทนของคนรุ่นใหม่กำลังจะได้ใจคนรุ่นเก่า”
[1] John Funston, Conflict in Southern Thailand : Causes, Agents and Trajectory ARC Federation Fellowship
Islam, Syari’ah and Governance, BACKGROUND PAPER SERIES
[2] International Crisis Group, เส้นทางสู่ขบวนการต่อสู้ในในชายแดนภาคใต้, รายงานเอเชีย ฉบับที่ 170 (22 มิถุนายน 2552)
[3] บรรณาธิการนิตยสาร WIRED ผู้เขียนบทความชื่อ The Long Tail ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2547 (CHRIS ANDERSON MAGAZINE DATE OF PUBLICATION: 10.01.04. https://www.wired.com/2004/10/tail/) และจัดพิมพ์หนังสือชื่อเดียวกันในปี 2549 โดยได้รับความสนใจอย่างมากในสหรัฐฯและแพร่ขยายไปทั่วโลกรวมทั้งไทย ดูเพิ่มเติมที่
- Matt Schifrin, Why Alibaba's Long Tail Makes Amazon's Look Like A Bobcat's, https://www.forbes.com/sites/schifrin/2014/05/08/why-alibabas-long-tail-makes-amazons-look-like-a-bobcats/2/#78f92c6215cb
- ดร. ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ กับผลงานเขียนบทความการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management), http://drkunchitsingsuwan.blogspot.com/2008/09/long-tail-strategy.html
- ทฤษฎีหางยาว (Long Tail Theory) ปัจจัยความสำเร็จของ e-Commerce, http://www.mbamagazine.net/index.php/b-school-4/2873-long-tail-theory-e-commerce
- มารู้จัก..การตลาดหางยาว..กันเถอะ (Long Tail Marketing), http://www.oknation.net/blog/chaiyospun/2008/06/16/entry-1
- ทฤษฎีหางยาว (The Long Tail) พลังแห่งปัจเจกนิยม, http://www.tcdc.or.th/articles/others/14526/#ทฤษฎีหางยาว-The-Long-Tail-พลังแห่งปัจเจกนิยม
[4] ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1895 ตามชื่อนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี Vilfredo Pareto กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความไม่สมดุลที่พบเห็นในโลก คือ ผลลัพธ์ (Output) ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เกิดขึ้นจากการทำงาน (Input) ของส่วนน้อย (ร้อยละ 20) ต่อมามีการประยุกต์ใช้กฎ 80/20 ในหลายศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการบริหาร เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) การบริหารคุณภาพ (Quality Management) หรือ การปรับกระบวนงานทางธุรกิจ (Business Process Reengineering) โดยมีสมมติฐาน คือ ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยต้องเลือกทำอะไรก็ได้ที่มี Input น้อย แต่ได้ความคุ้มค่าหรือผลตอบแทนให้มากที่สุด
[5] คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกพรรคไหน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” วันที่อัพเดทล่าสุด : 26.03.2566 เข้าถึงได้ที่https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=617
[6] เลือกตั้ง 2566: คุยอนาคต 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 3 พรรค 19 ปีแก้ไฟใต้ ทำไมยิ่งยากจนสุดในประเทศ ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย 22 เมษายน 2023 https://www.bbc.com/thai/articles/cjkz15ny24lo
Leave a Comment