สงครามแย่งดินแดนและความพ่ายแพ้จิตและใจ (Losing Hearts and Minds) (ตอนที่ 1)
ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2023/11/27/palestine-and-israel-brief-history-maps-and-charts
History Doesn’t Repeat Itself, but It Often Rhymes – Mark Twain
นับตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2023 อิสราเอลบุกภาคเหนือของฉนวนกาซาด้วยกำลังรบ 40,000 นายโดยทิ้งระเบิดถล่มพื้นที่ขนาด 365 ตารางกิโลเมตรอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ประชากรเกือบ 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่นและพลเรือนกว่า 15,000 คนเสียชีวิต (ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6,000 คน ผู้หญิง 5,000 คน)[1] ตามรายงานสำนักงานสาธารณสุขของฉนวนกาซาและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่าการสูญเสียที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้นมาก[2]
กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ทิ้งระเบิดโจมตีโรงพยาบาล รถฉุกเฉินรวมทั้งอาคารจำนวนครึ่งหนึ่งในภาคเหนือของฉนวนกาซาพังทลายกลายเป็นซากปรักพัง ตัดการส่งน้ำ อาหารและกระแสไฟฟ้าเกือบทั้งหมดสำหรับชาวกาซา 2.2 ล้านคน ไม่ว่าจะนิยามการกระทำดังกล่าวว่าอย่างไรก็ตาม ถือเป็นการลงโทษพลเรือนแบบเหมารวมครั้งใหญ่
อิสราเอลรับทราบอย่างเป็นทางการว่าการรุกรานภาคพื้นดินเพื่อการกวาดล้าง ซึ่งใช้คำอธิบายแบบสะอาดหมดจดว่า “การจัดทัพ (manoeuvre)” จะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดว่า ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่อิสราเอลต้องอำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือที่จำเป็น แม้ทำให้ภารกิจ “กำจัดกลุ่มฮามาส” และ “ช่วยเหลือตัวประกัน” ยากขึ้นก็ตาม[3]
บทเรียนจากการทำสงครามในฉนวนกาซาโดยเฉพาะยุทธการ Protective Edge ปี 2014 แสดงให้เห็นว่ากองทัพประชาธิปไตยยุคใหม่ต้องเผชิญสงครามทางกฏหมายหรือนิติสงคราม (warfare) แทนการทำสงครามแบบดั้งเดิมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสู้รบ
การต่อสู้กับกองกำลังนอกแบบ (irregular forces) โดยเฉพาะในเมือง (urban terrain) ทำให้เกิดการโต้แย้งในประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างเข้มงวดและการสอบสวนที่นำโดยสหประชาชาติ (UN) ซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้อาวุธของ IDF ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นรวมทั้งยุทธวิธีอื่น ๆ[4]
เมื่อบ่าย 12 ธันาวาคม 2023 (ตามเวลาในนครนิวยอร์ก) ที่ประชุมสมัชชา UN ผ่านข้อมติเรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซา ด้วยเสียงส่วนใหญ่ (เกิน 2 ใน 3) โดยมีประเทศสนับสนุน 153 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียงและงดออกเสียง 23 เสียง ข้อมติดังกล่าวแสดง “ความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมระดับวิบัติหายนะในฉนวนกาซาให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข”[5]
หลังจากที่ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างอิสราเอล - กลุ่มฮามาสเพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกันดำเนินไปได้ 7 วัน ทั้งสองฝ่ายต่างฉีกสัญญาและเดินหน้าสู้รบกันต่อ โดย IDF โหมการโจมตีทางอากาศอย่างหนักและรุกเข้าไปยังภาคใต้ของฉนวนกาซา แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของรัฐบาลอิสราเอลยังไม่ชัดเจน แม้ผู้นำอิสราเอลอ้างว่ามีเป้าหมายที่กลุ่มฮามาสเท่านั้น
การโจมตีทิ้งระเบิดถล่มฉนวนกาซาแบบไม่เลือกปฎิบัติ (lack of discrimination) ก่อให้เกิดคำถามถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของอิสราเอล ความกระเหี้ยนกระหือที่จะทำลายฉนวนกาซาเป็นผลผลิตอันไร้ความสามารถที่นำไปสู่ความล้มเหลวของ IDF ในการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 และแผนการทั้งหมดจัดทำโดยกองทัพและหน่วยข่าวกรองอิสราเอลในห้วงเวลาหนึ่งปีก่อนหน้านั้นหรือไม่ ?
การทำลายล้างจากตอนเหนือของฉนวนกาซาลงมาจนถึงตอนใต้ เป็นการโหมโรงเพื่อผลักดันให้ประชากรชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดไปยังอียิปต์ตามข้อเสนอใน “เอกสารเชิงหลักการ (Concept Paper)”[6] ที่จัดทำโดยกระทรวงข่าวกรองอิสราเอลหรือไม่ ?
ไม่ว่าเป้าหมายสูงสุดของอิสราเอลจะเป็นอย่างไร การทำลายล้างฉนวนกาซาก่อให้เกิดปัญหาด้านศีลธรรมอย่างลึกซึ้ง แม้จะพิจารณาในแง่มุมทางยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แนวทางการปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลกำลังประสบความล้มเหลว
การลงโทษพลเรือนจำนวนมากไม่ได้ทำให้ประชาชนในฉนวนกาซายุติการสนับสนุนกลุ่มฮามาสแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามยิ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ขุ่นเคืองมากขึ้น สงครามที่ดำเนินมากว่า 2 เดือนแสดงให้เห็นว่าอิสราเอลอาจทำลายล้างฉนวนกาซาได้ แต่ไม่สามารถกำจัดกลุ่มฮามาส ซึ่งในขณะนี้อาจจะเข้มแข็งกว่าเมื่อก่อนก็เป็นได้
อิสราเอลคงมิใช่ประเทศแรกที่ทำผิดพลาดเพราะความเชื่อมั่นในการบีบบังคับด้วยนภานุภาพ (coercive of airpower) ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ในพื้นที่พลเรือน แทบไม่เคยบรรลุวัตถุประสงค์ทางการทหาร
หากอิสราเอลเอาใจใส่กับบทเรียนเหล่านั้นและตอบโต้การโจมตี 7 ตุลาคม 2023 ด้วยการโจมตีแบบผ่าตัด (surgical operation) โดยมุ่งเป้าหมายผู้นำและนักรบของกลุ่มฮามาส แทนที่ปฏิบัติการทิ้งระเบิดตามอำเภอใจแบบไม่เลือกปฏิบัติตามแผนการที่เลือกไว้
จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนทางเลือกกลยุทธ์เพื่อบรรลุความมั่นคงอย่างถาวร โดยตอกลิ่มความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แทนการทำให้พวกเขาใกล้ชิดกันมากขึ้นรวมทั้งการดำเนินการที่นำไปสู่ทางออกแบบสองรัฐ
ในช่วงยุคแรกของนภานุภาพ ประเทศต่าง ๆ ทิ้งระเบิดใส่ศัตรูเพื่อให้ยอมจำนนและทำลายขวัญกำลังใจของพลเรือนตามทฤษฎีที่ว่าเมื่อถึงจุดแตกหัก ประชาชนจะลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของตนและเปลี่ยนข้าง กลยุทธ์การลงโทษแบบบีบบังคับบรรลุจุดสูงสุดในสงครามโลกครั้งที่สอง
ประวัติศาสตร์จดจำการทิ้งระเบิดแบบไม่เลือกปฏิบัติในครั้งนั้น โดยระบุชื่อเมืองที่ตกเป็นเป้าหมายได้แก่ ฮัมบวร์ก (เสียชีวิต 40,000 คน) ดาร์มสตัดท์ (เสียชีวิต 12,000 คน) และเดรสเดน (เสียชีวิต 25,000 คน) บัดนี้ฉนวนกาซาถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อที่น่าอับอายเสียชื่อเสียง
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลเปรียบเทียบการทำสงครามในปัจจุบันกับการสู้รบของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง เขาปฏิเสธว่าอิสราเอลกำลังมีส่วนในการลงโทษแบบเหมารวมในขณะนี้ และชี้ว่า การโจมตีทางอากาศของอังกฤษต่อเป้าหมายสำนักงานใหญ่เกสตาโปในกรุงโคเปนเฮเกนผิดพลาดไปตกที่โรงเรียนฝรั่งเศสคร่าชีวิตเด็ก 87 คนและผู้ใหญ่ 19 คน
สิ่งที่เนทันยาฮูไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ความพยายามของฝ่ายสัมพันธมิตรในการลงโทษพลเรือนจำนวนมากไม่เคยประสบผลสำเร็จ ในเยอรมนีการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเริ่มต้นในปี 1942 สร้างความหายนะให้กับพลเรือน ทำลายพื้นที่เมืองทีละแห่งรวมทั้ง 58 เมืองของเยอรมนี แต่ไม่ได้บั่นทอนขวัญกำลังใจของพลเรือนหรือกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ในความเป็นจริงไม่เคยมีเหตุการณ์ทิ้งระเบิดครั้งใด ๆ ที่ทำให้ประชากรเป้าหมายลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของตน สหรัฐฯพยายามใช้กลยุทธ์นี้หลายครั้งแต่ไม่ประสบผล ช่วงสงครามเกาหลีมีการทำลายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าร้อยละ 90 ในเกาหลีเหนือ สงครามเวียดนามทำลายแหล่งพลังงานในเวียดนามเหนือไปเกือบหมดและสงครามอ่าว การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯก่อกวนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 90 ในอิรัก ทั้งหมดนี้ประชาชนไม่ได้ลุกฮือ
กรณีล่าสุดสงครามยูเครน นับเป็นเวลาเกือบสองปีที่รัสเซียพยายามบีบบังคับยูเครนด้วยการโจมตีทางอากาศในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ สังหารพลเรือนมากกว่า 10,000 คน ทำลายบ้านเรือนเสียหายมากกว่า 1.5 ล้านหลังและทำให้ชาวยูเครน 8 ล้านคนต้องพลัดถิ่น
[1] เว็บไซต์ Haaretz รายงานเมื่อ 15 ธันวาคม 2023 โดยอ้างสำนักงานสาธารณสุขกาซาที่ควบคุมโดยกลุ่มฮามาสว่า มีผู้เสียชีวิต 18,608 คน (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) บาดเจ็บ 50,594 คน จากการโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการภาคพื้นดินของอิสราเอลตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2023 เข้าถึงได้ที่ https://www.haaretz.com/israel-news/2023-12-15/ty-article-live/senior-u-s-official-hamas-leader-sinwars-days-are-numbered/0000018c-6b87-db38-a9fc-eba7b5250000
[2] Israel’s Failed Bombing Campaign in Gaza By Robert A. Pape FOREIGN AFFAIRS December 6, 2023 Available at: https://www.foreignaffairs.com/israel/israels-failed-bombing-campaign-gaza
[3] Israel faces agonising choices in the battle for Gaza The Economist Oct 29th 2023 Available at: https://www.economist.com/leaders/2023/10/29/israel-faces-agonising-choices-in-the-battle-for-gaza
[4] Lessons from Israel's Wars in Gaza by Raphael S. Cohen, David E. Johnson, David E. Thaler, Brenna Allen, Elizabeth M. Bartels, James Cahill, Shira Efron RAND CORPORATION Oct 18, 2017 Available at: https://www.rand.org/pubs/research_briefs/RB9975.html
[5] General Assembly Adopts Resolution Demanding Immediate Humanitarian Ceasefire in Gaza, Parties' Compliance with International Law, Release of All Hostages TENTH EMERGENCY SPECIAL SESSION, 45TH MEETING (PM)GA/12572 12 DECEMBER 2023 Available at: https://press.un.org/en/2023/ga12572.doc.htm
[6] สำนักงานนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ปฏิเสธรายงานที่ว่ากระทรวงข่าวกรองอิสราเอลเสนอให้ย้ายประชากร 2.3 ล้านคนในฉนวนกาซาไปยังคาบสมุทรซีนายของอียิปต์ ทำให้เกิดเสียงประณามจากชาวปาเลสไตน์และสร้างความตึงเครียดกับอิยิปต์ ดู An Israeli ministry, in a ‘concept paper,’ proposes transferring Gaza civilians to Egypt’s Sinai BY AMY TEIBEL AP Updated 9:44 AM GMT+7, October 31, 2023 Available at: https://apnews.com/article/israel-gaza-population-transfer-hamas-egypt-palestinians-refugees-5f99378c0af6aca183a90c631fa4da5a
Leave a Comment