บทบาทสำคัญของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (NON-STATE ACTORS) ในตะวันออกกลาง
ที่มาภาพ: Non State Actors in Global Governance: A theoretical perspective Nimish Batra Bain & Company | Niti Aayog https://www.linkedin.com/pulse/non-state-actors-global-governance-theoretical-nimish-batra/
สงครามอิสราเอล-ฮามาสเป็นเครื่องยืนยันขีดความสามารถของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) ในการกำหนดสถานการณ์แทนรัฐบาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดบางอย่าง เพราะ “กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าพวกตนต้องรับผิดชอบสวัสดิภาพของประชาชนในชาติ[1]
เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดรนติดอาวุธที่ซับซ้อนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคให้ทัดเทียมกับรัฐบาลของประเทศตน ขณะที่มหาอำนาจระดับโลกพยายามใช้เครื่องมือนโยบายแบบดั้งเดิมและช่องทางการทูตตอบโต้หรือควบคุมตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐซึ่งดำเนินการนอกระบบการเงินโลก
การทำลายล้างครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 ทำให้เห็นบทบาทสำคัญของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (ไม่เจาะจงกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนด้านความมั่นคงและการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลต่าง ๆ
การโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 35,000 คนนอกจากถูกประณามจากรัฐบาลในภูมิภาค อิสราเอลยังต้องรับมือกลุ่มติดอาวุธที่ไม่มีสถานะเป็นรัฐที่เป็นพันธมิตรของกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซาโดยพฤตินัยตั้งแต่ปี 2007
ในเลบานอนกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอลและตอบโต้กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ทำให้การโจมตีในฉนวนกาซาซับซ้อนมากขึ้น การสู้รบระหว่างฮิซบอลลอฮ์และอิสราเอลมีการยิงปืนใหญ่และจรวดตอบโต้เป้าหมายสำคัญของฮิซบอลเลาะห์ในพื้นที่ตอนใต้ของเลบานอน
ฮิซบอลลอฮ์เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองและการทหารที่ทรงอำนาจที่สุดในเลบานอน โดยผู้นำระดับสูงในรัฐบาลเลบานอนยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ไม่สามารถหยุดยั้งหรือห้ามปรามไม่ให้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ตอบโต้อิสราเอลจนอาจทำให้สถานการณ์บานปลาย
สหรัฐฯ ฝรั่งเศสและชาติอาหรับใช้เวลาหลายปีในการช่วยเหลือกองทัพเลบานอนในการจำกัดหรือปลดอาวุธกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ แต่ประสบความล้มเหลว กลุ่มฮิซบอลเลาะฮ์สามารถพัวพันกับประชาชนเลบานอนในสงครามที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศในปี 2006 เช่นเดียวกับกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก ซึ่งไม่ได้มีสถานะในรัฐสภาหรือรัฐบาล แต่ปฏิบัติการในซีเรีย
กองกำลังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ เช่น จรวด ขีปนาวุธพิสัยใกล้และโดรนติดอาวุธจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่านเพื่อโจมตีฐานทัพสหรัฐฯในอิรัก ซีเรียและจอร์แดนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้นำอิรักทำให้สหรัฐฯโจมตีตอบโต้ทางอากาศต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของอิรัก
ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน คือ “กลุ่มฮูตี” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อันซาร์ อัลเลาะห์” (Anzar Allah) หรือ “ผู้สนับสนุนของพระเจ้า” ในเยเมน ซึ่งปฏิบัติการเคลื่อนไหวโดยไม่มีอุปสรรคทางการเมืองหรือการทหารและลากโยงประชากรในประเทศพัวพันกับความขัดแย้ง
ในบริบทของสงครามฉนวนกาซา กลุ่มฮูตีได้นำประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐฯและพันธมิตรส่วนใหญ่เป็นมหาอำนาจสำคัญของยุโรปที่มีแนวทางเหมือนกัน โดยใช้กำลังตอบโต้กลุ่มฮูตีซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการเดินเรือผ่านทะเลแดง
กลุ่มฮูตียึดพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือและตอนกลางของเยเมนภายในระยะเวลาไม่กี่ปี หลังการลุกฮือของประชาชนอาหรับสปริงในปี 2011 โดยขับไล่รัฐบาลสาธารณรัฐเยเมนออกจากเมืองหลวงซานาในปี 2014 ขณะที่สหประชาชาติยอมรับรัฐบาลเยเมนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในฐานที่มั่นทางตอนใต้และรอบ ๆ กรุงเอเดน
แม้ประชาชนเยเมนส่วนใหญ่ชื่นชมการกระทำของกลุ่มฮูตี ที่สนับสนุนกลุ่มฮามาสและต่อต้านผู้สนับสนุนอิสราเอล แต่รัฐบาลเยเมนกลับวิพากษ์วิจารณ์การโจมตีการขนส่งทางเรือของกลุ่มฮูตีว่า ขัดขวางการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนและยั่วยุการโจมตีทางอากาศที่นำโดยสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ทรุดโทรมอยู่แล้ว
ผู้สนับสนุนทางทหารและการเงินในอ่าวเปอร์เซียและคนกลาง (mediator) ต่าง ๆ ไม่สามารถบังคับให้กลุ่มฮูตีลดความรุนแรงได้ เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่จัดหาโดยอิหร่านทำให้กลุ่มฮูตีสามารถยับยั้งมิให้ชาติอาหรับที่เป็นปฏิปักษ์ เช่น ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กลับมาสู้รบภาคพื้นดิน
ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกลุ่มเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและสามารถโจมตีในภูมิภาค คือ คาลิฟา ฮาฟตาร์ ผู้มีอิทธิพลซึ่งควบคุมรัฐเสมือนจริง (virtual state-in-state) ทางตะวันออกของลิเบีย ยังคงหลบซ่อนในเมืองเบงกาซีและต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติในกรุงตริโปลีซึ่งปกครองลิเบียทางตะวันตก
คาลิฟา ฮาฟตาร์ ควบคุมการผลิตน้ำมันของรัฐบางส่วนอันเป็นแหล่งรายได้ของกองทัพแห่งชาติลิเบีย (LNA) เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธผิดกฎหมายและข้อตกลงลักลอบขนโลหะมีค่ากับ Wagner Group ของรัสเซียและ และ UAE ฮาฟตาร์อนุญาตให้รัสเซียและ UAE ใช้ฐานทัพของเขาในการจัดหาอาวุธให้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอีกราย คือ กองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ในซูดาน ซึ่งต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธแห่งชาติของซูดานในปี 2023
กองกำลังทั้งสองไม่ต้องการยุติความขัดแย้ง แม้มีการไกล่เกลี่ยโดยซาอุดีอาระเบียและผู้มีบทบาทในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอื่น ๆ ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากและเกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่ไม่มีสัญญาณผ่อนคลายแต่อย่างใด
การปรากฎของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในฐานะกลุ่มพลังสำคัญ โดยเป็นคู่แข่งหรือสร้างอิทธิพลเหนือรัฐบาลแห่งชาติ สร้างปัญหาทางนโยบายแบบใหม่ ยากที่มหาอำนาจหลักและผู้ไกล่เกลี่ยจะสามารถลดความรุนแรงหรือสลายความขัดแย้งในภูมิภาค
การต่อสู้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะกลุ่มต่าง ๆ ได้รับการติดอาวุธที่มีความซับซ้อน เช่น โดรนติดอาวุธ ที่จัดหาโดยอิหร่าน ตุรกีหรือมหาอำนาจอื่น ๆ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐไม่จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตหรือประกอบอาวุธขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นกำลังรบสำคัญ
กลุ่มฮูตีเริ่มส่งพาหนะผิวน้ำไร้คนขับ (sea drone) ซึ่งบางส่วนถูกทำลายโดยการโจมตีทางอากาศที่นำโดยสหรัฐฯและไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับหน่วยทหารสหรัฐฯและเรือรบของพันธมิตรหรือเรือพาณิชย์ ทั้งนี้ ระบบอาวุธคล้ายกันซึ่งดำเนินการโดยยูเครนได้จมกองเรือรัสเซียหลายลำในทะเลดำ
เครื่องมือทางนโยบายที่ไม่ช่การทหารซึ่งประเทศมหาอำนาจใช้ต่อต้านรัฐต่าง ๆ มีข้อจำกัดในการต่อต้านตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐซึ่งดำเนินการนอกระบบการเงินระหว่างประเทศ ส่งผลให้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมกลายเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างไร้ประสิทธิผล
ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในภูมิภาคดำเนินธุรกรรมเงินสดด้วยตัวเอง (in-person) หรือใช้กลไกการโอนเงินแบบไม่เป็นทางการ แสวงหารายได้ผิดกฎหมายให้แก่สมาชิกและจัดซื้อส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับคลังแสงสรรพาวุธ (arsenals) กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้คิดว่าพวกตนต้องรับผิดชอบสวัสดิการทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในดินแดนที่ตนอาจครอบครอง ทำให้ปลอดจากพันธนโยบายคว่ำบาตรทางการเงิน
กลุ่มฮิซบุลลอฮ์พัฒนาหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมที่ซับซ้อน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในฐานที่มั่นทางตอนใต้ของเลบานอนและพื้นที่ชานเมืองตอนใต้กรุงเบรุต ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ถูกสหรัฐฯประกาศเป็นกลุ่มก่อการร้าย แม้ได้รับการยกเว้นโดยสหประชาชาติ แต่หน่วยงานช่วยเหลือระหว่างประเทศไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ควบคุมของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ
[1] NON-STATE ACTORS IN THE MIDDLE EAST DEMONSTRATE INCREASING POWER AND INFLUENCE INTELBRIEF Tuesday, April 9, 2024 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/non-state-actors-in-the-middle-east-demonstrate-increasing-power-and-influence?e=c4a0dc064a
Leave a Comment