23 ปี 9/11 หลากหลายภัยคุกคามสหรัฐฯ

 

ที่มาภาพ: 23 years after 9/11, what is the state of U.S. national security? People in this story https://cssh.northeastern.edu/23-years-after-9-11-what-is-the-state-of-u-s-national-security/

23 ปีหลังการโจมตีก่อการร้ายโดยอัลกออิดะห์เมื่อ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯเผชิญภัยคุกคามหลากหลายมากกว่าเดิม สถานภาพอัลกออิดะห์แตกต่างจาก ทศวรรษก่อน เครือข่ายก่อการร้ายในภูมิภาคบางแห่งเติบโตขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายและสาขาก่อการร้ายในแอฟริกาใต้ซาฮารารวมทั้งอัลชาบับในโซมาเลียและจามาอัต นุสรัต อัลอิสลาม วัล-มุสลิมินในซาเฮล[1]

          รัฐอิสลามโคราซาน (IS-K) กลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก พยายามรักษาฐานที่มั่นในอัฟกานิสถาน และปฏิบัติการนอกพื้นที่หลายครั้งรวมทั้งการโจมตีในอิหร่าน ตุรกีและรัสเซีย ส่วนตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) ผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อความไม่สงบรวมทั้งกองกำลังติดอาวุธแสวงหาวิธีสร้างนวัตกรรมโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อยกระดับความรุนแรง

          รายงานฉบับล่าสุดของคณะผู้ตรวจสอบสนับสนุนการวิเคราะห์และคว่ำบาตรของสหประชาชาติ[2] ระบุว่า อัลกออิดะห์ “ยังคงหลบภัยอยู่ในอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน” การที่สหรัฐฯไม่มีกองกำลังประจำการในพื้นที่ดังกล่าว ตาลีบันจึงทำหน้าที่เป็นกองกำลังหลักในการต่อต้านการก่อการร้ายของ IS-K ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวมากที่สุด

          อัลกออิดะห์ถูกทำให้อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก (Global War on Terrorism) ของสหรัฐฯ แดเนียล บายแมน นักวิชาการด้านการก่อการร้ายชี้ว่า กลุ่มนี้ประสบปัญหาอุปสรรคหลายประการ อาทิ ด้านการเงิน ผู้นำถูกสังหาร การบัญชาการและควบคุมถูกจำกัดรวมทั้งความขัดแย้งและการสู้รบภายใน

ที่ผ่านมาสหรัฐฯและพันธมิตรประเมินขีดความสามารถของอัลกออิดะห์ต่ำเกินไป ขณะที่การต่อต้านการก่อการร้ายถูกบดบังด้วยการแข่งขันของมหาอำนาจ ก่อให้เกิดความกังวลว่าอัลกออิดะห์อาจสร้างเครือข่ายขึ้นมาใหม่ในอัฟกานิสถานและเอเชียใต้ผ่านอัลกออิดะห์ในอนุทวีปอินเดีย (AQIS) และร่วมมือกับกลุ่มญิฮาดในปากีสถาน เช่น Tehrik-e-Taliban Pakistan (TTP) หรือตาลีบันแห่งปากีสถาน

          แม้ประสบความสูญเสียอย่างมาก แต่เครือข่ายอัลกออิดะห์และสาขาในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงโดดเด่นและเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) ในเยเมนยังคงเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องและน่าจะพยายามหาทางแสวงประโยชน์จากความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นในประทศ โดยชักชวนสมาชิกใหม่และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มตน

          ในภูมิภาคส่วนใหญ่ทั่วโลก พันธมิตรของอัลกออิดะห์ยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคู่แข่ง คือ IS-K ซึ่งพยายามวางแผนก่อการร้ายในต่างประเทศ แต่ถูกขัดขวางไว้ได้ เช่น แผนการโจมตีงานแสดงคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ซึ่งตั้งใจจะทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก

ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯให้ข้อมูลแก่หน่วยข่าวกรองออสเตรีย ซึ่งช่วยขัดขวางแผนการดังกล่าว บุคคลจำนวนมากที่ถูก IS-K ปลุกปั่นเป็นเยาวชนอายุน้อย ซึ่งเคยรับชมวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อของ IS-K บน TikTok, Telegram และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ

เครือข่ายรัฐอิสลาม (IS) ยังคงเติบโตในภูมิภาคซาเฮล แอฟริกากลาง โมซัมบิกและโซมาเลีย รัฐอิสลามแห่งซาเฮล (ISSP) และรัฐอิสลามแอฟริกาตะวันตก (ISWAP) ขยายการปฏิบัติการจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกไปจนถึงแอ่งทะเลสาบชาด พื้นที่ทั้งหมดในมาลี ไนเจอร์และบูร์กินาฟาโซถูกนักรบญิฮาดบุกเข้ายึดครอง

การรัฐประหารหลายครั้งในแถบแอฟริกาใต้สะฮาราทำให้ระบอบเผด็จการทหารเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันเป็นการเชื้อเชิญให้ทหารรับจ้างรัสเซีย (wagner group) ซึ่งปัจจุบันเรียกว่ากองกำลังแอฟริกา (Africa Corp) เข้ามาในประเทศเพื่อป้องกันการรัฐประหาร

ทหารรับจ้างชาวรัสเซียในพื้นปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มกบฏอย่างรุนแรง โดยสังหารพลเรือนและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนอย่างหนักและถูกบังคับให้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มก่อการร้าย

ในอิรักและซีเรีย  IS กำลังรุกคืบด้วยการโจมตีและปฏิบัติการเพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยอิหร่านอยู่เบื้องหลังเพื่อกดดันผู้นำอิรักให้ยุติการประจำการทหารสหรัฐฯในอิรัก (ตามความต้องการของอิหร่าน) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงให้ถอนกองกำลังผสมที่สหรัฐฯเป็นผู้นำออกจากอิรัก โดยจะถอนทหารหลายร้อยนายออกจากอิรักภายในหนึ่งปีข้างหน้าและส่วนที่เหลือจะถอนออกหมดภายในปี 2026

          นอกเหนือจากกลุ่มซาลาฟี - ญิฮาด (อัลกออิดะห์และ IS) สหรัฐฯ ยังเผชิญภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่อิหร่านให้การสนับสนุนรวมทั้งกลุ่มตัวแทนอิหร่านที่รู้จักกันในชื่อ “อักษะแห่งการต่อต้านต่อต้าน (Axis of Resistance)” เช่น ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮูซีในเยเมนและกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ทั่วอิรักและซีเรีย[3] แม้กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อภูมิภาค แต่ฮิซบอลเลาะห์มีแนวโน้มจะโจมตีในดินแดนสหรัฐฯ หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในบางจุด

          กลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด (far-right extremist) นับเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯรวมทั้งเครือข่ายนีโอนาซีและกลุ่มคนขาวผู้สูงส่ง (white supremacist) ที่มีแนวคิดเหยียดผิว เช่น The Base, Atomwaffen Division, Russian Imperial Movement (RIM), Nordic Resistance Movement (NRM) และอื่น ๆ

          การก่อการร้ายภายในประเทศยังคงเป็นปัญหาน่ากังวล บุคคลและกลุ่มหัวรุนแรงขนาดเล็กจากทุกกลุ่มอุดมการณ์มีแรงจูงใจจากความไม่พอใจต่าง ๆ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “salad bar terrorism” ซึ่งผู้ก่อการร้ายจะเลือกใช้แนวคิดหลากหลายและขัดแย้งกันในบางครั้ง หลังปลุกปั่นความสุดโต่งทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์เกม

          ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไม่เคยหยุดนิ่ง ในทางตรงกันข้ามตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมักแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มอานุภาพความรุนแรง การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ของกลุ่มก่อการร้าย ก่อให้เกิดการโจมตีด้วยอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ เพื่อยกระดับความรุนแรงให้เหนือกว่าคู่แข่ง

ความท้าทายดังกล่าสทวีความซับซ้อนเนื่องจากการเปลี่ยนลำดับความสำคัญในสหรัฐฯ หลังจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งกร้าวทั่วโลกเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯรู้สึกหน่ายล้าต่อการต่อต้านการก่อการร้าย ขณะที่การผงาดขึ้นของจีนและการรุกรานยูเครนของรัสเซีย รวมทั้งการทำสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาและประเด็นอื่น ๆ สำคัญกว่าภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย[4]

การขาดแคลนทรัพยากรในการต่อต้านการก่อการร้ายน่าจะยังคงอยู่ต่อไป แม้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการตอบโต้รุนแรงเกินไปและวิสัยทัศน์แคบ


[1] เขตรอยต่อบริเวณทะเลทรายสะฮารา แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนทะเลแดง ซาเฮลเป็นภาษาอาหรับมีความหมายว่า ชายหาด

[2] UN Analytical Support and Sanctions Monitoring Team publishes report on ISIL and al-Qaida By Michael O'Kane Global Sanctions 6 August 2024 Available at: https://globalsanctions.com/2024/08/un-analytical-support-and-sanctions-monitoring-team-publishes-report-on-isil-and-al-qaida/

[3] เหตุใดทุกคนถึงพูดถึงอิหร่านในช่วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส เรซา ซาเบติ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาเปอร์เซีย BBC News Thai  15 พฤศจิกายน 2023 เข้าถึงได้ที่: https://www.bbc.com/thai/articles/c80w8g2dwqvo

[4] 23 YEARS AFTER 9/11, WHAT DOES THE TERROR THREAT FACING THE U.S. LOOK LIKE?  INTELBRIEF Wednesday, September 11, 2024 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/23-years-after-911-what-does-the-terror-threat-facing-the-us-look-like?e=c4a0dc064a

Author Image

About Kim
Kim is a retired civil servant, specializing in intelligence analysis. He loves productivity hacks, minimalist workflows and CSI series.

No comments

Powered by Blogger.