Jemaah Islamiyah (JI) สลายตัวแล้วยังไง
Jemaah Islamiyah (JI) กลุ่มอิสลามสุดโต่ง (Islamist Extremist) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในอินโดนีเซียประกาศสลายตัวเมื่อปลายมิถุนายน 2024 เพื่อความอยู่รอดของสมาชิกชุมชนที่ผูกพันกันมายาวนาน โดยยังคงเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม 60 แห่ง ซึ่งจะต้องแก้ไขหลักสูตรเพื่อกำจัดเนื้อหาบ่มเพาะความรุนแรง[1]
คณะบุคคลนำโดย Bambang Sukirno ผู้นำกลุ่ม JI และสมาชิอาวุโส 15 คน พร้อมตัวแทนกระทรวงกิจการศาสนาอินโดนีเซียและหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้าย ตัดสินใจนำสมาชิกในฐานที่มั่นและในโรงเรียนสอนศาสนา JI คืนสู่สังคมเพื่อให้ได้รับการยอมรับและป้องกันการแตกกระจาย[2]
องค์กรญิฮาดซาลาฟี (salafi-jihadist) ที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตอริกริกูดิน (อาบู รูสดาน) ผู้นำจิตทางวิญญาณ JI ประกาศผ่านวิดิโอเมื่อ 30 มิถุนายน 2024[3] ว่าตนและผู้นำคนอื่น ๆ กำลังจะยุบโครงสร้าง JI และ “กลับสู่สังคมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย”[4]
พวกตนจะร่วมกับกระทรวงศาสนาของอินโดนีเซียปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียน JI โดยขจัดลัทธิหัวรุนแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรระดับชาติ เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่น กลุ่ม JI ได้ส่งมอบอาวุธและรายชื่อสมาชิกกลุ่มติดอาวุธตลอดจนผู้ที่เคยฝึกอาวุธในซีเรียให้กับทางการ
ชุมชน JI สืบทอดความผูกพันหลายชั่วอายุคนด้วยสายสัมพันธ์ทางครอบครัว การแต่งงาน มิตรภาพ ประสบการณ์ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์และความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การให้ความสำคัญกับชุมชนมากกว่าองค์กรทำให้สมาชิกสามารถก่อตั้งองค์กรดะวะห์ (การเผยแผ่ศาสนาอิสลาม) เปิดโรงเรียนแห่งใหม่เข้าร่วมองค์กรต่าง ๆ และทำงานเกี่ยวกับอิสลามผ่านกลไกของรัฐทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
การตัดสินใจสลายกลุ่มเป็นผลจากการพิจารณายุทธวิธีและกลยุทธ์เป็นเวลานาน 16 ปี เริ่มด้วยการปรับทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ในปี 2008 เมื่อพารา วิจายานโต เข้ารับตำแหน่งผู้นำ (Amir) กลุ่ม JI เริ่มเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ “ดะวะห์ต้องมาก่อน (Dakwah First)” โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือการเข้าร่วมญิฮาดอย่างเหมาะสมในอินโดนีเซีย
สถาบันวิเคราะห์นโยบายความขัดแย้ง (Institute for the Policy Analysis of Conflict: IPAC) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผกำไรที่มีฐานอยู่ในจาการ์ตารายงานโดยอ้างการให้เหตุผลของอาบู รูสดานในปี 2009 ว่า กลุ่ม JI ไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนมุสลิมในอินโดนีเซียซึ่งไม่สนับสนุนความรุนแรง”
การเปลี่ยนกลยุทธ์ของ JI เห็นได้จากการตัดสินใจไม่โจมตีแก้แค้น Densus 88 (หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย) ซึ่งบุกโจมตีฐานที่มั่น JI ที่ Tanah Runtuh ใน Poso เมื่อปี 2007 ทำให้สมาชิก 14 คนเสียชีวิต โดยในปี 2010 พารา วิจายานโตห้ามสมาชิก JI เข้าร่วมฝึกอาวุธกับกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ ในจังหวัดอาเจะห์
ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการ IPAC และโซลาฮุดดิน ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Roots of Terrorism in Indonesia ระบุว่าช่วงปี 2009 - 2019 ไม่มีสมาชิก JI คนใดก่อเหตุโจมตีก่อการร้ายหรือเข้าร่วมญิฮาดในอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันพารา วิจายานโตได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับ “ญิฮาด” ที่กว้างขวางและครอบคลุม
Alif Satria นักวิจัยร่วมของศูนย์วิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ (ICPVTR) กล่าวว่า ในปี 2016 พารา วิจายานโต อนุญาตให้สมาชิก JI เข้าร่วมการประท้วงต่อต้าน Basuki Tjahaja Purnama (Ahok) ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในขณะนั้น
กลุ่ม JI ได้ออกคำสั่งสนับสนุนการเข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติโดยถือเป็นการ "ญิฮาดด้วยคำพูด" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากองค์กรนี้มักเชื่อมโยงญิฮาด (การต่อสู้) กับ qital (การสู้รบ) นอกจากนี้ JI อนุญาตให้สมาชิกลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2019
ศาสตราจารย์ Julie Chernov Hwang และ Kirsten Schulze เห็นว่า JI ยังไม่ได้แก้ไขหรือละทิ้งเป้าหมาย “รัฐอิสลาม” หรือมุมมองเกี่ยวกับ “การเตรียมพร้อม” จึงมีการจัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อปรับปรุงความสามารถในการป้องกันรวมทั้งการฝึกขั้นพื้นฐานนอกบ้านหรือ “the gym program”
สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากโครงการดังกล่าวจะได้รับการฝึกกึ่งทหารในซีเรียเป็นเวลา 3 - 6 เดือน พารา วิจายานโต เปิดเผยว่าสมาชิก JI ถูกส่งไปฝึกร่วมกับกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) และกลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้ กลุ่ม JI ได้ก่อตั้งค่ายฝึกของตนเองในซีเรีย (ใกล้เมืองซัลมา)
การตรวจพบการฝึกอาวุธทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ตำรวจอินโดนีเซียต้องปราบปราม JI อย่างหนัก Alif Satria กล่าวว่า ร้อยละ 59 ของผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายทั้งหมดที่ถูกจับกุมในปี 2023 เป็นสมาชิก JI การเจรจาระหว่างผู้นำ JI คนสำคัญทั้งในและนอกเรือนจำกับ Densus 88 เริ่มต้นด้วยการหารือเกี่ยวกับอนาคตของ JI ส่งผลให้ยุบโครงสร้างองค์กรโดยยังคงควบคุมโรงเรียนของกลุ่ม
เบื้องหลังการตัดสินใจปรองดองกับรัฐและยุบองค์กร JI เนื่องจากตระหนักว่าไม่สามารถทำสงครามกับรัฐข้อตกลงกว้าง ๆ ระหว่าง พารา วิจายานโตและปัญญาชนของ JI เห็นว่ารัฐบาลและรัฐไม่ใช่ผู้ปฏิเสธ (qafir) หรือผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลาม (thoghut) จึงมิได้เป็นศัตรู
ผู้นำระดับสูงซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจากับ Densus 88 ประเมินว่า หากสมาชิก JI ถูกคุมขังจะไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ไม่สามารถเลือกผู้นำ การสลายองค์กรจะทำให้ทุกคนออกจากที่หลบซ่อนและกลับคืนถิ่นฐาน เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตได้ข้อสรุปว่า JI เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นพี่น้องจึงไม่ต้องการองค์กร
IPAC ระบุว่า JI ให้ความสำคัญกับชุมชนอย่างมาก แม้องค์กรจะถูกยุบ แต่ยังคงมีความผูกพันทางสังคมที่เป็นแกนหลักซึ่งหลุดพ้นจากกรอบที่ถูกบังคับจึงสามารถดำเนินกิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงภายใต้ชื่ออื่น ๆ เพื่อสังคมที่เป็นอิสลามมากขึ้นตลอดจนสามารถดำเนินกิจการโรงเรียนของตนต่อไปได้
ผู้นำ JI ที่ทำหน้าที่คนกลางระหว่าง JI กับรัฐบาลยืนยันว่าสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยได้ออกจากกลุ่มไปเข้าร่วมกับอัลกออิดะห์ของ Noordin M. Top ในหมู่เกาะมาเลย์ในปี 2004, กลุ่ม Jemaah Ansharut Tauhid ในปี 2008 หรือค่ายฝึกอาเจะห์ในปี 2010 ส่วนผู้ที่ยังอยู่ก็ภักดี มุ่งมั่นและเชื่อฟัง
ความพยายามสลายกลุ่ม JI ส่งผลให้อดีตผู้ต้องขังก่อการร้าย สมาชิกระดับล่างและผู้สนับสนุนหลายร้อยคนประกาศ “คืนสู่สังคมอินโดนีเซีย” ได้แก่ จังหวัดสุมาตราเหนือ 177 คน เมืองจิเรบอน 180 คน เมืองกลาเตน 500 คน เขตโปโซและเมืองโมโรวาลี โมโรวาลีเหนือและโตโจ อูนา 124 คน เมืองปาลู 54 คน จังหวัดสุมาตราใต้ รวมทั้งสมาชิกจากเมืองต่าง ๆ ในอินดรามายู คูนิงกัน ซูบัง มาจาเลงกา เบงกูลูและตาซิกมาลายา 56 คน
อนาคตของชุมชน JI จะเป็นอย่างไร สมาชิกในต่างประเทศรวมถึง 10 - 12 คนในซีเรียและ 20 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในเยเมนจะยอมรับการตัดสินใจสลายกลุ่มหรือไม่เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ อย่างไรก็ตาม อดีตผู้นำ JI จะมุ่งมั่นเรื่องการศึกษา หากสมาชิกในชุมชนปลดเปลื้องความคิดผิด ๆ จะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ
ผู้นำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาพูดถึงอนาคตว่า “พวกตนจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่โรงเรียนและจะไม่หยุดต่อสู้เพื่อรัฐอิสลาม เพราะรัฐอิสลามไม่ได้มีไว้สำหรับ JI เท่านั้นแต่เพื่อมนุษยชาติ เราเผยแผ่ศาสนาและการศึกษาผ่านการทำความดี ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง 5 – 6 ปีนับจากนี้ จะทำดาวะห์เพื่อให้ผู้คนเข้าใจมุมมองของ JI มากขึ้นโดยไม่ใช้ชื่อ JI”
Densus 88 และกระทรวงกิจการศาสนาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือให้สมาชิก JI กลับคืนสู่สังคมอีกครั้งโดยขจัดความอัปยศอดสูในหมู่บ้าน เทศบาลและเขตเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าอดีตสมาชิกและลูกหลานของพวกเขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมในอินโดนีเซียกว้างขึ้น
โครงการให้คำปรึกษาที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นควบคู่ภาคประชาสังคมและธุรกิจช่วยให้บุคคลต่าง ๆ พัฒนาอัตลักษณ์ของกลุ่ม Densus 88 ควรให้ JI มีความเป็นส่วนตัวระดับหนึ่งแทนการปรากฏตัวผ่านสื่อ ซึ่งอาจส่งผลเสียโดยทำให้สมาชิก JI และผู้เห็นใจต้องอับอาย สมาชิก JI ต้องรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอินโดนีเซียที่เปิดกว้างพอที่จะรวมพวกเขาเข้าไว้ด้วย
[1] JEMAAH ISLAMIYAH DISBANDS ITSELF: HOW, WHY, AND WHAT COMES NEXT? INTELLBRIEF Thursday, September 26, 2024 Available at: https://mailchi.mp/thesoufancenter/jemaah-islamiyah-disbands-itself-how-why-and-what-comes-next?e=c4a0dc064a
[2] Jemaah Islamiyah Says It Has Disbanded. Should We Believe It? By Aisyah Llewellyn THE DIPLOMAT July 11, 2024 https://thediplomat.com/2024/07/jemaah-islamiyah-says-it-has-disbanded-should-we-believe-it/
[3] จัดทำขึ้นที่สำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (National Counter Terrorism Agency) เมืองโบกอรืใกล้กรุงจาร์กาตา
[4] Southeast Asia armed group Jemaah Islamiyah to disband: Report ALJAZEERA 4 Jul 2024 Available at: https://www.aljazeera.com/news/2024/7/4/southeast-asia-armed-group-jemaah-islamiyah-to-disband-report
Leave a Comment